สาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชื่อ ไทเลเรีย (Theileria spp.) สำหรับเชื้อที่พบในประเทศไทยยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็น ชนิดใด แต่ที่พบในเม็ดเลือดแดงของโค มีขนาดเล็กมาก และมีหลายรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น กลม รูปไข่ รูปคอมม่า หรือรูปเรียวยาว การติดต่อ เชื่อว่ามีเห็บบางชนิดเป็นพาหะนำโรค แต่ยังไม่พบว่าเห็บชนิดใดในประเทศไทยที่สามารถเป็นตัวนำโรคนี้ได้ อาการ โดยทั่วไปโคที่มีเชื้อไทเลเรียอยู่ในตัว มักไม่แสดงอาการป่วยเด่นชัด (Subclinical) ในโคที่เป็นโรคชนิด เฉียบพลันส่วนมากจะมีอาการโลหิตจาง อ่อนเพลีย น้ำนมลด สำหรับในโคนมพันธุ์แท้ อาการที่พบคือ โลหิตจางอย่างรุนแรง เบื่ออาหาร ไข้สูงและน้ำหนักลด การตรวจวินิจฉัย ใช้เลือดทำฟิล์มบางๆ บนสไลด์ย้อมสียิมซ่าแล้วตรวจหาเชื้อ ในเม็ดเลือดแดงด้วยกล้องจุลทรรศน์ การรักษา ยังไม่มียาที่จะใช้รักษาได้ผลดี แต่อาจใช้ยากลุ่มเตตทราไซคลิน (Tetracycline) รักษาเช่นเดียวกับการรักษาโรคอะนาพลาสโมซิสก็ได้ ที่มา และ ภาพประกอบ : กลุ่มวิจัยและพัฒนาโคนม กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์