คุณมาโนช ลักษณะกิจ ชาวเชียงใหม่ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจหรือมือใหม่ที่จะหัดเพาะ ปลาทองจะต้องมีการเตรียมใจกับเรื่องอะไรบ้าง อาทิ เมื่อเพาะออกมาแล้วมีที่เลี้ยงหรือไม่ เนื่องจากในการรีดไข่ปลาในแต่ละครั้งนั้น ถ้าแม่ปลาที่มีความสมบูรณ์เต็มที่จะให้ลูกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-4,000 ตัว มีที่เลี้ยงเพียงพอกับการอนุบาลต่อไปหรือไม่ ในการอนุบาลลูกปลาทองจะต้องมีการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี ถ้าขาดตกบกพร่องในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกปลาได้ อีกทั้งอาหารจะต้องมีการให้อย่างสม่ำเสมอและน้ำที่ใช้เลี้ยงจะต้องคอยเปลี่ยนถ่ายให้สะอาดอย่างตลอดเวลา หลักการสำคัญในการเพาะปลาทองนั้น คุณมาโนช บอกว่า พ่อแม่พันธุ์ที่จะใช้ในการผสมพันธุ์นั้น แนะนำให้ใช้ตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว เนื่องจากน้ำเชื้อตัวผู้เพียงตัวเดียวจะไม่เพียงพอกับไข่ปลาตัวเมียที่สมบูรณ์เพียงตัวเดียว ถ้าเป็นการผสมพันธุ์แบบธรรมชาติ เราจะปล่อยให้พ่อ-แม่พันธุ์ได้ผสมพันธุ์กันเอง ตัวผู้จะไล่ตอดตัวเมียเพื่อให้ไข่หลุดออกมาจากท้องตัวเมีย หลังจากนั้นจะทำการฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมไข่ที่หลุดออกมา ในบ่อผสมพันธุ์ควรจะมีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่ายหรืออาจจะใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยเพื่อให้ไข่ปลาเกาะติด (เชือกฟางหรือสาหร่ายจะสามารถป้องกันการกินไข่ของพ่อแม่ปลาทองได้) พ่อแม่ปลาทองจะเก็บกินไข่ที่ตกอยู่ที่พื้นหรือที่โล่งจนหมด สำหรับวิธีการผสมพันธุ์เทียม ให้สังเกตดูท้องตัวเมียจะป่อง ๆ แสดงว่าจะเริ่มไข่แล้ว หากไข่ที่สุกเต็มที่ตัวเมียจะขับเมือกคาว ๆ ออกมาพร้อมไข่ ให้เตรียมกะละมังขาวใส่น้ำสะอาด (ปราศจากคลอรีน) มาเตรียมเพื่อทำการรีดไข่ นำแม่พันธุ์มาอยู่ในกะละมัง พยายามจับเบา ๆ อย่า ให้แม่ปลาทองตกใจ จากนั้นให้นำพ่อปลาทองมาใส่รวมกัน เมื่อแม่ปลาหายตื่นตกใจให้เริ่มทำการรีดไข่ปลา โดยปกติแล้วน้ำเชื้อของตัวผู้จะต้อง ออกแรงฉีดมากกว่าตัวเมีย เนื่องจากไข่ของตัวเมียแค่แม่ปลาสะบัดตัวก็หลุดออกมาแล้ว ในการรีดไข่จะต้องมีเทคนิคตรงที่ขณะที่รีดจะต้องวนมือเป็นวงกลมตามกะละมังด้วย เพื่อให้ไข่มีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อเปอร์เซ็นต์การฟักจะสูงขึ้นด้วย จากนั้นประมาณ 10-15 นาที ให้นำกะละมังไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง เราจะพบไข่ปลาที่มีสีเหลืองใส ติดหนึบอยู่บริเวณก้นกะละมัง นำกะละมังนั้นไปแช่ในอ่างแล้วเปิดออกซิเจนให้แรงให้ออกซิเจนเพียงพอสำหรับไข่ปลาที่กำลังจะฟัก หลังจากนั้นอีกประมาณ 3-4 วัน ลูกปลาตัวน้อยก็จะเริ่มดีดตัวออกมาจากไข่ ลูกปลาจะออกช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำด้วย ถ้าอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างเย็น ลูกปลาจะออกช้าซึ่งเป็นผลดี เพราะการที่ลูกปลาอยู่ในไข่นานจะทำให้การพัฒนาเป็นตัวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์