ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านโคลนนิงสุนัขอีกครั้ง หลังบริษัทวิจัยในเกาหลีใต้ทำสำเร็จ โคลนนิงลูกสุนัขบีเกิลได้ 2 ตัว จากเซลล์ต้นกำเนิดในเนื้อเยื่อไขมันของสุนัขตัวต้นแบบเป็นครั้งแรก โอกาสสำเร็จสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง เปิดทางสู่ธุรกิจโคลนนิงสัตว์เลี้ยง และเอื้อประโยชน์ต่องานวิจัยทางการแพทย์ อาร์เอ็นแอล ไบโอ (RNL Bio) บริษัทเอกชนด้านพันธุวิศวกรรมแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ โชว์ความสำเร็จงดงามด้วยการโคลนนิงลูกสุนัข 2 ตัว ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (stem cell) จากเนื้อเยื่อไขมันของสุนัขตัวต้นแบบพันธุ์บีเกิล โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการโคลนนิงสำเร็จโดยใช้สเต็มเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน และมีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ในกรุงโซล
เอเอฟพีระบุว่าทีมนักวิจัยของอาร์เอ็นแอล ไบโอ เริ่มแยกตัวอย่างเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) จากสุนัขพันธุ์บีเกิลเมื่อเดือน ต.ค. 51 จากนั้นแยกเอาสเต็มเซลล์ออกมาเพาะเลี้ยงต่อในห้องแล็บ แล้วทำการโคลนนิงโดยนำดีเอ็นเอจากเซลล์ต้นกำเนิดเนื้อเยื่อไขมันไปใส่ในเซลล์ไข่ของสุนัข และเพาะเลี้ยงได้ตัวอ่อนจำนวน 84 ตัว แล้วนำไปแบ่งฝากในท้องแม่สุนัขอุ้มบุญจำนวน 5 ตัว เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 51 จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 52 แม่สุนัขตัวหนึ่งชื่อ ริเวอร์ (River) คลอดลูกสุนัขโคลนนิงออกมา 2 ตัว ซึ่งทีมวิจัยตั้งชื่อให้ลูกสุนัข 2 ตัวนี้ว่า เมจิก (Magic) กับ สเต็ม (Stem) นับว่าเป็นลูกสุนัขคู่แรกที่เกิดจากเทคนิคการโคลนนิงแบบใหม่ที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งนักวิจัยระบุว่ามีโอกาสสำเร็จสูงกว่าการโคลนนิงโดยทั่วไปที่มักใช้เซลล์ร่างกาย (somatic cells) ของสิ่งมีชีวิตต้นแบบ "หากเราพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้จนสมบูรณ์ การโคลนนิงสุนัขก็จะง่ายขึ้นเยอะ และยังลดต้นทุนในการโคลนนิงลงได้อีกมากด้วย" คำกล่าวของ รา จองชาน (Ra Jeong-Chan) ผู้บริหารของอาร์เอ็นแอล ไบโอ ซึ่งระบุอยู่ในรอยเตอร์ส พร้อมกับบอกด้วยว่าวิธีนี้จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการโคลนนิงสุนัขลดลงเหลือเพียงแค่ราว 50,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,750,000 บาท) ได้ภายใน 3 ปีนี้ จากเดิมที่เจ้าของสุนัขต้องควักกระเป๋าจ่ายไม่ต่ำกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,500,000 บาท) หากอยากโคลนนิงสุนัขแสนรัก ที่ตายไปแล้ว ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ในการโคลนนิงสุนัขดมกลิ่นสำหรับใช้ในราชการด้วยเช่นกัน
ทีมวิจัยยังบอกอีกด้วยว่าเทคนิคนี้ยังมีประโยชน์ในด้านการศึกษาหาวิธีรักษาโรคทางพันธุกรรมในสุนัขที่คล้ายกับโรคในคน เช่น เบาหวาน เป็นต้น อีกทั้งเซลล์ต้นกำเนิดเนื้อเยื่อไขมันยังมีศักยภาพสูงในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ส เบาหวาน ข้ออักเสบ และอีกหลายโรคด้วย ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวนักวิจัยแสดงให้ดูเฉพาะภาพถ่ายของลูกสุนัขทั้ง 2 ตัว เท่านั้น ไม่ได้เปิดเผยให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้เห็นลูกสุนัขตัวจริง เนื่องจากเกรงว่าแม่สุนัขจะตกใจและอาจทำอันตรายลูกสุนัขได้ ด้าน ปาร์ก เซ-ปิล (Park Se-Pill) ผู้เชี่ยวชาญด้านโคลนนิงของเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับบริษัท อาร์เอ็นแอล ไบโอ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการโคลนนิงสัตว์ให้ก้าวหน้ามากขึ้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี และมีส่วนช่วยลดต้นทุนให้ถูกลงได้ รวมทั้งทำให้อุตสาหกรรมโคลนนิงสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้ว อาร์เอ็นแอล ไบโอ ยังได้โคลนนิงสุนัขจากเซลล์ใบหูของสุนัขพันธุ์พิตบูลเทอร์เรียแช่แข็ง สัตว์เลี้ยงแสนรักของหญิงชาวอเมริกันผู้หนึ่ง ซึ่งเธอก็ยอมจ่ายเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้บริษัทดังกล่าวโคลนนิงสุนัขแสนรักให้กลับมาอยู่กับเธออีกครั้ง และนับว่าเป็นการโคลนนิงสัตว์เลี้ยงเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลกด้วย
ที่มา : manager.co.th และ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ (thonglorpet.com)