มีโรคร้ายที่ติดต่อจากสัตว์มาถึงคนอีกโรคหนึ่งที่อุบัติขึ้นมาในโลกหลายพันปีมาแล้ว และปัจจุบันก็ยังคงอยู่เพื่อคร่าชีวิตคนปีละหลายหมื่นคน โดยไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก โรคนั้นคือ โรคพิษสุนัขบ้า โรคที่หากแสดงอาการแล้วจะไม่มีทางรักษา ผู้ป่วยต้องตายด้วยความทรมานทุกราย สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) มีสถิติเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่น่าสนใจ คือในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 55,000 รายทั่วโลก ซึ่ง 95% หรือประมาณ 52,250 ราย เกิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา และประมาณ 30-60% เป็นเด็กอายุต่ำ กว่า 15 ปี ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 10-20 ราย จากเดิมที่เคยมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 300 ราย ด้วยวัคซีนที่ถูกพัฒนาใช้ฉีดในคนมีคุณภาพดี ปลอดภัย ราคาไม่แพง และฉีดเพียง 5 เข็ม ทำให้คนเสียชีวิตลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนละความสนใจและไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อโรคนี้สักเท่าใด เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจึงยังคงไม่หมดไปจากโลกใบนี้ และจะยังคงอยู่เพื่อคร่าชีวิตผู้ที่รู้เท่าไม่ ถึงการณ์ต่อไป นายสัตวแพทย์นิรันดร เอื้องตระกูลสุข ผู้อำนวยการ สคบ. กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีสไวรัส (Rabies) ซึ่งจะอยู่ในน้ำลายสัตว์ที่ป่วย เชื้อโรคนี้สามารถติดต่อสู่คนได้ด้วยการเข้าสู่บาดแผลจากการกัด ข่วน หรือเลีย ผ่านเข้าสู่เส้นประสาท และสมองทำให้มีอาการทางประสาท เมื่อเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังจะทำให้เกิดอัมพาตของระบบหายใจและตายในที่สุด อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดแต่ ในสุนัขเท่านั้นแต่สามารถเกิดได้ในสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ระวังหรือใส่ใจเวลาถูกสัตว์อื่นกัด จนต้องเสียชีวิตโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง กรมปศุสัตว์ โดย สคบ.ได้จัดให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการระบาดของโรคขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องโรคและประมาท ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจาย โดยร่วมมือกับ องค์กรเพื่อการรณรงค์ควบ คุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นมา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยทีมนักวิชาการหลายสาขาอาชีพจากนานาประเทศรวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในการเลี้ยงดูสุนัขและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และได้ตกลงกำหนดให้มีวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2550 และให้มีการรณรงค์ จัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จำนวน 46 ประเทศทั่วโลก โดยกำหนดพันธกิจไว้ ว่า Together We Can Make Rabies History ต่อมาที่ประชุมเครือข่ายการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การโรคระบาดสัตว์ ระหว่างประเทศ (OIE) จึงได้กำหนดให้ วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกเป็นวันที่ 28 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของ หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับฉีดให้คนที่ถูกสุนัขบ้ากัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ฉะนั้น ตลอดทั้งเดือนกันยายนที่ผ่านมาทาง สคบ.ได้จัดทำโครงการควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำหมันให้สัตว์เลี้ยงฟรี ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นในพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการควบคุมโรค อีกทั้งเพื่อให้ตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้า และ ร่วมมือกันป้องกันโรคเพื่อให้สำเร็จตามพันธกิจที่ตั้งไว้ โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการนำร่องที่ ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งประชาชนในพื้นที่ ต.เกาะเกร็ด ได้ให้ความร่วมมือ นำสัตว์เลี้ยงของตนมาเข้ารับบริการเป็นอย่างดี และเป้าหมายต่อไปในฐานะที่เป็นสมาชิกของ OIE คือกำหนดยุทธศาสตร์ว่า ...จะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี ค.ศ. 2020 หรือในปี พ.ศ. 2563.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์