คาร์เมเลี่ยนเวลล์(Veiled Chameleon Factoids) หรือ คาร์เมเลี่ยน คาลิปตราตัส (Chamaeleo calyptratus) สวัสดีนักท่องเว็บทุกท่านนะครับ เห็นว่าตอนนี้กระแสเวลล์มาแรงเหลือเกินก็เลยอดใจไม่ไหวที่จะกล่าวถึงมันซักหน่อย แล้วบังเอิญว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 ก.ย. 48) ผมมีโอกาสได้ไปเดินสำรวจตลาดสัตว์เลื้อยคลานแถวๆจตุจักรมา เดินอยู่ได้พักใหญ่ พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นเจ้าเวลล์เกาะขอนชูคอโดดเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าร้าน จึงอดไม่ได้ที่จะแวะเข้าไปเชยชมเสียหน่อย หลังจากที่หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ๆ ช่วงนี้ก็เริ่มมีเจ้าเวลล์โผล่มาให้เห็นบ้าง แล้วไอเดียก็บรรเจิดครับ ผมคิดได้ทันทีว่าบทความเรื่องต่อไปจะต้องเป็นเจ้าเวลล์นี่แหละ เพราะว่าหลังจากนี้จะต้องมีเพื่อนๆหลายคนที่กำลังเล็งๆเอาไว้เพื่อนำมาเป็นสมาชิกใหม่อีกตัว และกำลังคิดว่าจะตัดสินใจซื้อดีมั้ย เลี้ยงยากหรือเปล่า หรือคำถามอีกหลายๆข้อ หากกำลังชั่งใจอยู่ละก็ลองมาอ่านบทความนี้กันก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจนะครับ หรือบางคนอาจกำลังมีอยู่ในครอบครองแล้ว ก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมดูว่าเราเลี้ยงเจ้านี่ถูกต้องหรือเปล่า หรือเผื่อเกิดไอเดียใหม่ๆในการเลี้ยงก็เป็นได้
เวลล์ นั้นเป็นกิ้งก่าอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามอุณหภูมิ แสงและการเคลื่อนไหวต่างๆ มันจะเปลี่ยนเป็นสีซีดเมื่อตกใจ กลัว หรือไม่ก็อยู่ในที่มืดและเย็น แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่ออากาศร้อนและมีแสงสว่าง มันกลับเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ เช่นโมโห รมณ์บ่จอย ก็จะมีสีเข้ม ต้นไม้ ดอกไม้ที่อยู่ในตู้ก็มีผลเช่นกันนะครับ เพราะกิ้งก่าสามารถเปลี่ยนสีตามสิ่งของที่มันเกาะอยู่ เพื่อหลอกศัตรู มีนักเลี้ยงบางท่านดัดแปลงจากนิสัยข้อนี้ของมันโดยใช้ต้นไม้และดอกไม้ที่มีสีสดใสเพื่อให้กิ้งก่าที่เลี้ยงมีสีสวยสดงดงามตามต้นไม้ที่ใส่ไว้ในที่เลี้ยง ที่นิยมเห็นจะเป็น ไทรด่าง, สับปะรดสี, พลูด่าง เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนสีของกิ้งก่านี้มีการถกเถียงกันมาก นอกจากนี้ตาของมันทั้งสองข้างยังสามารถกลอกไปมาได้ 360 องศา ทำให้มันสามารถทราบได้ถึงภัยก่อนที่จะถึงตัว เพราะตาของมันจะกลอกไปมาทั้งสองข้างอย่างไม่พร้อมกัน ทำให้มันสามารถดูสิ่งที่อยู่รอบๆตัวทั้งซ้าย ขวา หน้าและหลังได้พร้อมๆกัน ส่วนลักษณะโดยทั่วไปนั้น เวลล์จะมีหางยาวและม้วนเข้าเป็นวงตอนปลายดูคล้ายๆกับกิ้งกือเวลาที่โดนแหย่แล้วม้วนตัวนะครับ ถ้าบางคนไม่เคยเห็นก็อาจเปรียบเทียบกับม้าน้ำก็พอไหวครับ หางม้วนๆเข้าไปครับ บางครั้งก็มีเอาหางไปม้วนกับต้นไม้ กิ่งไม้บ้างเหมือนกัน ลักษณะเด่นที่สามารถแยกมันออกจากเพื่อนๆกิ้งก่าของมันได้ง่ายๆก็คือ ส่วนหลังคอที่มีติ่งยื่นออกมา ซึ่งส่วนที่ยื่นออกไปนี้จะนูนเป็นโหนกในบริเวณหัวค่อนไปทางสันหลังอย่างชัดเจน มีแถบสีเหลืองล้อมรอบลำตัวเป็นช่วงๆตลอดทั้งลำตัว สีของลำตัวนี้จะเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับ อารมณ์ และปัจจัยอื่นๆตามที่กล่าวไปข้างต้น ตั้งแต่สีเขียวสดจนถึงสีน้ำเงินบางครั้งอาจมีสีเหลืองทอง, ส้ม และสีดำ มีลิ้นที่ใหญ่ หนาและยาวมาก ยาวกว่าตัวของตัวมันเสียอีก เนื่องจากมันใช้ในการจับอาหารกิน โดยยื่นลิ้นออกไปจับอาหารที่อยู่ไกลๆได้ ด้วยความรวดเร็ว แม้ว่าเราจะดูเหมือนมันเชื่องช้าก็ตาม ส่วนลำตัวมีความยาวโดยประมาณ 40-60 เซนติเมตร (14-24 นิ้ว) โดยเมื่อโตเต็มที่มีรายงานว่าขนาดใหญ่พอๆกับกิ้งก่าอีกัวน่าเลยทีเดียว แต่ตัวผมเองนั้นยังไม่เคยเห็นเวลล์ที่มีขนาดใหญ่ขนาดนั้เลยสักที การวัดนี้จะรวมส่วนหางด้วยแต่ไม่ได้รวมส่วนลิ้น โดยเพศผู้ จะโตกว่าเพศเมียเกือบเท่าตัวเพราะมีขนาดถึง 24 นิ้วในขณะที่เพศเมียมีขนาดเพียง 14 นิ้วเท่านั้นเอง เมื่ออายุได้ 6 เดือนสามารถเพาะพันธุ์ได้ แต่จะให้ดีควรมีอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี เวลล์มีอายุเฉลี่ยประมาณ 5-6 ปี แต่เพศผู้จะมีอายุที่ยืนกว่าเพศเมีย ดูแล้วตัวผู้นี้ออกจะเอาเปรียบตัวเมียซะทุกอย่างเลย แต่บางทีเรื่องเหล่านี้อาจมีผลมาจากวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของมันก็เป็นได้ ในธรรมชาติอาจมีตัวผู้น้อยก็เลยทำให้มีอายุยืนกว่าเพื่อไม่ใไห้มันสูญพันธุ์ก็เป็นได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมีที่มาและที่ไป มีเหตุมีผลของมันเสมอแหละครับ พวกมันมีถิ่นกำเนิดจากทะเลทรายของประเทศ เยาเมนและซาอุดิอารเบีย ดังนั้นมันจึงสามารถปรับตัวกับอุณหภูมิที่ร้อนมากและแห้งแล้ง อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25 - 32 องศาเซลเซียสและอากาศเย็นลงในตอกลางคืน ทำให้สามารถเลี้ยงในภูมิอากาศบ้านเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งคล้ายคลึงใน คาร์เมเลี่ยนแจ๊คสัน แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่พบแพร่หลายในร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วโลกไปแล้ว
อาหารการกินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลี้ยง เวลล์กินสัตว์เป็อาหาร เช่น แมลง หนอนแว๊ก หนูแดง และกินพืชได้เล็กน้อย ดังนั้นถ้าคิดจะเลี้ยงแล้วจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ว่าการหาอาหารให้มันกินนั้นเกินความสามารถของเราหรือเปล่า เพราะกิ้งก่าเหล่านี้ไม่สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้เหมือนกับเต่า โดยส่วนใหญ่นิยมให้กินจิ้งหรีด ซึ่งในกิ้งก่าที่ตัวเล็กก็จะต้องให้กินลูกจิ้งหรีดตัวเล็กๆ แต่เมื่อโตขึ้นก็ต้องเปลี่ยนเป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ขึ้น ควรคำนึงถึงว่าอาหารที่ให้จะต้องมีขนาดเหมาะสมกับกิ้งก่า ในกรณีที่เวลล์มีอาการเซื่องซึมหรือไม่ยอมกินอาหาร ควรเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น ซึ่งสามารถวัดด้วยการติดเทอร์โมมิเตอร์ไว้ในที่เลี้ยง นอกจากนี้ในการเลี้ยงควรฉีดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือใช้ระบบสเปรย์น้ำ เรื่องนี้ก็จำเป็นเช่นกัน ในธรรมชาตินั้นกิ้งก่าจะกินน้ำค้างที่เกาะตามใบไม้หรือยอดหญ้าในตอนเช้า การวางถาดน้ำจึงไม่มีความจำเป็นเพราะมันจะไม่กิน การสเปรย์น้ำต้องทำทุกวันโดยเสปรย์น้ำไปที่หญ้าหรือต้นไม้ ไม่ควรฉีดลงไปที่ตัวกิ้งก่าโดยตรง หากไม่มีเวลาก็สามารถทำเป็นที่ให้น้ำติดไว้ด้านข้างเป็นแบบน้ำหยดติ๋งๆเอาไว้ก็ได้ครับ
อนุกรมวิธาน Class Reptilia Order Squamata (Lizards and snakes) Family Chamaeleontidae (chameleons) Genus Chamaeleo Species calyptorarus
การเลี้ยง อ้างอิงจาก ร้าน Kassinba Hut (โดยคุณหนุ่ม) 1. อาหารที่ให้ก็เป็นแมลงและหนอนทุกชนิดการให้อาหารควรให้ตอนที่มีแสงแดด ซึ่งจะกระตุ้นการกินอาหารของคาร์เมเลี่ยนชนิดนี้เป็นอย่างดี 2. การเสริมวิตามินในแมลงและหนอนควรคลุกเคล้าวิตามิน และให้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ วิตามินที่ควรเสริมได้แก่ วิตามิน เอ ดี และแคลเซี่ยม3. อุณหภูมิในการเลี้ยงลูกที่มีอายุระหว่าง 1 เดือนถึง 3 เดือน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 24 28 องศาเซลเซียส, อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี อยู่ระหว่าง 27 32 องศาเซลเซียส ส่วนตัวเต็มวัยอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปอยู่อุณหภูมิระหว่าง 28 35 องศาเซลเซียส4. ความชื้นที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 50 65 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีความชื้นมากเกินไปอาจเป็นผลเสียต่อคาร์เมเลี่ยนชนิดนี้ได้5. สำหรับตัวเมียที่ตั้งท้องพร้อมที่ผสมพันธุ์ควรอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และจะอยู่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่อุณหภูมิเฉลี่ย 28 35 องศาเซลเซียส และความชื้น 55 60 เปอร์เซ็นต์6. การให้น้ำควรสเปรย์น้ำ 1 ครั้งตอนเช้า เป็นเวลา 30 นาที7. แสงสว่างควรให้อย่างน้อยเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายใน 1 วัน
การเพาะพันธุ์
ขั้นแรก หลังจากที่กิ้งก่ามีอายุได้ 1 ปี แล้ว มันจะเริ่มส่งเสียงร้อง(ประมาณปีละ 3 ครั้ง) โดยช่วงที่ไม่ได้เพาะพันธุ์ควรเลี้ยงแยกเพศ ไม่ควรเลี้ยงเพศผู้กับเพศเมียร่วมกัน เมื่อพร้อมแล้วจึงนำมารวมกันเพื่อให้กิ้งก่าผสมพันธุ์กัน เมื่อเพศผู้เจอกับเพศเมียจะแสดงสีสันที่สดใส มีการส่ายลำตัวไปมา และส่งสัญญาณกับเพศเมียว่าต้องการผสมพันธุ์ หลังจากที่ส่งสัญญาณแล้วเพศเมียจะตอบรับหรือไม่ก็จะแสดงอาการออกมา หากเพศเมียที่ไม่เต็มใจจะเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้น และพยายามถอยหนี ส่วนเพศเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์จะมีสีสันสดใสเป็นพิเศษเพื่อเรียกร้องความสนใจ เมื่อผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้วทำการแยกออกจากกัน โดยเลี้ยงไว้คนละกรงเช่นเดิม เพศเมียที่ได้รับเชื้อจากเพศผู้ก็จะมีไข่อยู่ในท้อง แล้วรอประมาณ 25-30 วัน เพศเมียจะวางไข่ประมาณ 50 ฟอง ไข่ที่ได้นี้จะแยกไปฟัก โดยนำไข่ไปไว้ในภาชนะขนาดประมาณ 5 แกลลอน ที่ปูพื้นด้วยทรายเปียกหมาดๆ หรือกากมะพร้าว เรียงไข่ไว้ในภาชนะเกือบมิดฟอง แล้วนำไปบ่มหรือฟักที่อุณหภูมิ 30-32 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 เดือน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวให้อาหารลูกกิ้งก่าด้วยหนอนผลไม้ หรือจิ้งหรีดตัวเล็กๆ ซึ่งลูกกิ้งก่าจะโตเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ
สุดท้ายนี้ฝากไว้นิดนึงนะครับ ว่าควรสัมผัสกิ้งก่าของท่านอย่างทะนุถนอมเพราะมันค่อนข้างบอบบาง ไม่ควรเลี้ยงในบริเวณที่มีเด็กๆ ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเพราะอาจทำให้กิ้งก่าเครียดได้ และเลี้ยงดูมันด้วยความรัก ขอบคุณครับ
ที่มา และ ภาะประกอบ : siamreptile.com (http://www.siamreptile.com/origin/article016.html)