"แกะ จัดเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก กินหญ้าเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับวัว แต่ปริมาณในการกินอาหารน้อยกว่า ถ้านำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์จะให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็วกว่า อีก ทั้งใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ปัจจุบันสายพันธุ์แกะที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีเรื่องที่น่ายินดี ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตจังหวัดสกลนคร ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแกะเนื้อขึ้นในเขตภาคอีสานตอนบน เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ศึกษาวิจัยสมรรถภาพทางการผลิตของแกะ ในระบบการ เลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มในทุ่งหญ้าเขตร้อนของ จ.สกลนคร โดยนำแกะลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ดอร์เปอร์เข้ามาเลี้ยงเพื่อศึกษาอัตราการเจริญเติบโต
ปัจจุบัน อ.วัชรวิทย์ มีหนองใหญ่ ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์แกะเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและง่ายต่อการจัดการ โดยใช้พ่อพันธุ์แกะซานตาอิเนส (นำเข้า จากประเทศบราซิล จัดเป็นแกะขนาดใหญ่ เพศผู้เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักถึง 80-90 กิโลกรัม เพศเมีย 60 กิโลกรัม ใช้เพื่อ ทำการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์แกะเนื้อ ให้มีการเจริญเติบโตดี) เข้ามาปรับปรุง สายพันธุ์เป็นลูกผสมสามสายเลือดโดยนำ มาผสมพันธุ์กับลูกผสมพื้นเมืองกับดอร์เปอร์ ได้แกะขุนสายพันธุ์ใหม่ที่มีหลายสี ไม่มีเขา หน้าโค้งนูน ขนบริเวณซี่โครงและท้องมีลักษณะคล้ายพันธุ์ซานตาอิเนสและขนบริเวณแนวสันหลัง จะมีลักษณะหนาและเมื่อเลี้ยงจนมีอายุ ได้ 9 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 16 กิโลกรัม ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาการเลี้ยงแกะลูกผสมสามสายเลือดเข้าสู่ระบบการเลี้ยงขุนเพื่อให้ผลตอบแทนได้เร็วขึ้น อ.วัชรวิทย์ยังได้อธิบายวิธีการเลี้ยงแกะโดยทั่วไปจะมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ การเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มในแปลงหญ้า และการเลี้ยงแบบขุนในคอก ซึ่งการเลี้ยง แบบปล่อยแทะเล็มในแปลงหญ้าจะมีข้อ ดีตรงที่ช่วยประหยัดต้นทุนในเรื่องอาหาร โดยจะมีการปล่อยเลี้ยงแกะในช่วงเวลา เช้าประมาณ 2 ชั่วโมง และช่วงบ่ายอีก ประมาณ 2 ชั่วโมง แกะเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมแทะเล็มเฉพาะยอดหญ้าไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่กับที่ แต่ในช่วงฤดูร้อนจะต้องระวังเรื่อง ท้องอืด อีกทั้งจะต้องคอยระวังสุนัขมากัดแกะด้วย
มีข้อเสียของการเลี้ยงแบบปล่อย คือช่วงฤดูแล้งหญ้ามักจะขาดแคลนและหาได้ ยาก สำหรับการเลี้ยงแบบขุนในคอก จะทำให้แกะเจริญเติบโตเร็วแต่มีต้นทุนในเรื่องอาหารสูงขึ้น ถ้าเป็นไปได้เพื่อเป็นการลดต้นทุนเรื่องอาหาร สูตรอาหารที่จะนำมาใช้เลี้ยงจะต้องหาง่ายในท้องถิ่น เช่น เปลือกและกากมันสำปะหลังที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสามารถใช้ได้ทั้งรูปของการหมัก (ฤดูฝน) และรูปแบบตากแห้ง (ฤดูแล้ง) สำหรับช่องทางการตลาดแกะเนื้อนั้นยังมีความสดใส ตลาดใหญ่อยู่ที่ภาคใต้, ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ: เดลินิวส์ ออนไลน์