โรคเหงาหลับในปลา จัดเป็นโรค ที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มียาหรือ สารเคมีที่สามารถใช้ในการกำจัดหรือรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ สาเหตุของโรคเกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้ในเลือดของปลาน้ำจืด ดร.ฐิติพร หลาวประเสริฐ จากสถาบันวิจัยสุขภาพน้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ได้แสดง ผลวิจัยโดยการตรวจปรสิตในเลือดของ ตัวอย่างปลาน้ำจืดที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำ ธรรมชาติ ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, ราชบุรี, สิงห์บุรี และชัยนาท เป็นต้น พบปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรคเหงาหลับในปลา จำนวน 9 ชนิด คือ ตะเพียนขาว, ดุกอุย, บู่ทราย, หมอไทย, กระดี่นางฟ้า, สลิด, กระดี่หม้อ, กะสง และปลาช่อน ส่วนปลาที่ไม่พบปรสิตเลยคือ ปลาสร้อยหลอด
ผลจากการวิจัยยังพบว่าปลาบู่ทรายมีความชุกชุมของปรสิตมากที่สุด และรองลงมาคือปลาช่อนและปลา กะสงตามลำดับ มีการตรวจพบปรสิตเซลล์ เดียวที่มีแส้ครั้งแรกในปลาทองต่อมาพบ ในปลาไนและพบในปลาคาร์ปที่นำเข้ามา จากประเทศเยอรมนี ในประเทศไทยมีการตรวจพบปรสิตชนิดนี้ในเลือดของปลาน้ำ จืดหลายชนิด เช่น ปลาแรด, ปลานิล, ปลาดุกบิ๊กอุย และปลาช่อน แต่ในขณะนั้นยัง ไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ดร.ฐิติพร ยังได้บอกถึงวิธีการป้องกันโรคนี้เริ่มต้นจะต้องมีการจัดฟาร์มที่ดี โดยการกำจัดปลิงซึ่งเป็นพาหะของปรสิต ชนิดนี้ในระบบเพาะเลี้ยง ในปัจจุบัน การเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดในบ้าน เรา เช่น ปลาช่อน, ปลาบู่, ปลาไหลนา, ปลาหลด และปลากระดี่ เป็นต้น ยังมีความจำเป็นจะต้องอาศัยพ่อ-แม่พันธุ์ปลาจากธรรมชาติ
จากข้อมูลเบื้องต้นมีรายงานว่าในสภาวะที่ปลามีความอ่อนแอและมีปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้อยู่ในเลือด ปรสิตชนิดนี้ จะสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อสุขภาพของปลา จากผลงานวิจัยนี้ทำให้ทราบว่าปลาน้ำจืดจากแหล่ง น้ำธรรมชาติของประเทศไทยมีโอกาสพบปรสิตเซลล์เดียวมีแส้ได้มากกว่า 50% ซึ่งเมื่อรวบรวมปลามาเตรียมการเพาะพันธุ์ในโรงเพาะฟัก ปลาจะแสดงอาการของโรคในเวลาต่อมา เช่น ไม่กินอาหาร เซื่องซึมลอยหัวและตายในที่สุด เมื่อนำปลาดังกล่าวมาตรวจวินิจฉัยโรคพบว่า ปลามีอาการเหงือกซีด ตาโปนและมีปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้เป็นจำนวนมาก ลักษณะกลไกการก่อให้เกิดโรคนี้ เกิดจากการที่ปรสิตใช้สารอาหารและก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือดของปลาเป็นแหล่งพลังงาน ในขณะเดียวกันก็ผลิตสารฮีโมไลซินซึ่งเป็นพิษต่อเม็ดเลือดแดง มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เมื่อจำนวนของเม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยลงปลาจะเริ่มอ่อนแอ เกิดอาการโลหิตจาง ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลวและตายใน ที่สุด ดังนั้นในการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์จะต้องระมัดระวังไม่ให้ปลาเกิดความเครียดหรืออ่อนแอและควรกำจัดพาหะ คือ ปลิงดูดเลือดไม่ให้ปนเปื้อนมากับปลา.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์