พันธุ์โคนมที่เลี้ยงกันอยู่มีมากมายหลายพันธ์ การที่จะบอกว่า โคพันธุ์ใดดีที่สุดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะโคแต่ละพันธุ์มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน และความเหมาะสมในการเลี้ยง การให้นมได้มากใสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับถิ่นกำเนิดและความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมของโคแต่ละพันธุ์ ในการแบ่งถิ่นกำเนิดของโคมักใช้สภาพภูมิอากาศเป็นเกณฑ์ โดยเราสามารถแบ่งพันธุ์โคตามถิ่นกำเนิดได้ 2 พันธุ์คือ โคยุโรป และ โคอินเดีย หรือ โคเอเชีย
โคยุโรป คือโคที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตหนาวแถบยุโรป เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก อิตาลี รวมทั้งออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ซึ่งโคที่มีถิ่นกำเนิดในแถบนี้มักจะได้รับการปรับปรุงพันธุ์อย่างดี เพื่อให้เป็นพันธุ์แท้มีความสามารถในการให้น้ำนมได้มาก มีนิสัยเชื่อง อารมณ์ดี ไม่หวงลูก โดยทั่วไปจะมีขนาดและรูปร่างใหญ่ ลักษณะทั่วไปคือ ไม่มีโหนกและเหนียงคอ ใบหูสั้นปลายมน หนังตึง ขนยาว แนวหลังตรง บั้นท้ายเป็นมุมฉาก เต้านมเป็นรูปกะทะหัวนมมีขนาดเท่ากันและอยู่ห่างกันพอเหมาะ แต่โคยุโรปมักไม่ทนอากาศร้อน โรคและแมลง ต้องการการเลี้ยงดูและการเอาใจใส่ดีเป็นพิเศษ
โคเอเชีย หรือ โคอินเดีย คือโคที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชีย ซึ่งมีอากาศร้อน ส่วนใหญ่เป็นโคที่กำเนิดในประเทศอินเดียและ ปากีสถาน มีความสามารถในด้านการให้นมค่อนข้างต่ำมาก หากเทียบกับยุโรป มีนิสัยค่อนข้าง ดุร้าย หวงลูก มีขนาดและรูปร่างเล็กกว่าโคยุโรป ลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือ มีตะโหนกใหญ่ และ มีเหนียงคอ ใบหูยาวปลายแหลม หนังหลวมหย่อนยาน แนวหลังแอ่น บั้นท้ายลาดเต้านมลักษณะเป็นรูปกรวย หัวนมมีขนาดไม่สม่ำเสมอ และ อยู่ห่างกันไม่ได้สัดส่วน แต่ก็มีข้อดีคือ ทนต่อโรคและแมลงทนต่อสภาพอากาศร้านไม่ต้องการการเลี้ยงกูที่ดีนัก
จากลักษณะและข้อดีข้อเสียของโคทั้ง 2 ประเภท การจะเลี้ยงโคเพื่อรีดในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศร้อนจึงไม่เลี้ยงโคเอเชียพันธุ์แท้ และ โคยุโรปพันธุ์แท้ แต่จะนิยมเลี้ยงโคนมลูกผสม จากโคทั้งสองประเภท เพื่อดึงเอาลักษณะที่ดีของโคยุโรปและโคเอเชียมาไว้ในลูก
เรียบเรียงโดย : farmthaionline.com ข้อมูลจาก : โครงการหนังสือเกษตรชุมชน (พยุงศักดิ์ มณีเนตร)ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต