เรื่องโดย ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
เห็บและหมัด จัดว่าเป็นสิ่งที่ก่อความรำคาญและเป็นพาหะที่นำโรคภัยต่างๆ มาสู่เจ้าสี่ขา ที่เป็นที่รู้จักกันดี ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามและละเลยสำหรับเจ้าของสุนัขที่ควรต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพราะเจ้าเห็บ-หมัดนี้สามารถนำโรคพยาธิในเม็ดเลือด (Ehrlichiosis, Babesiosis, Hepatozoonosis) มาสู่สุนัข ทั้งนี้โรคดังกล่าว เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ก่อปัญหาต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคเลือดจาง, โรคตับ, โรคไต เป็นต้น อาการที่มักเริ่มสังเกตุได้คือ ซึมลง, เบื่ออาหาร, มีไข้ตัวร้อน, เหงือกหรือลิ้นซีดลง เป็นต้น นอกจากนี้เกิดบาดแผลบริเวณที่โดนเห็บกัด และอาจทำให้เกิดปัญหาภูมิแพ้ผิวหนังตามมาได้ หรือสุนัขอาจมีอาการคันและเกาจนทำให้เกิดแผลอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นตามมาได้ และถ้าหากเจ้าของละเลยปล่อยให้สุนัขสะสมเห็บ-หมัดเป็นจำนวนมาก อาจถูกดูดกินเลือดจนทำให้สุนัขเลือดจางได้ รู้จักวงจรชีวิต..เพื่อหาทางป้องกัน
รูปลักษณะของเห็บตัวเมียนั้นจะอ้วนกลมคล้ายเม็ดมะละกอ ส่วนตัวผู้จะสีออกน้ำตาลแดงมองเห็นขาชัดเจนกว่า ส่วนตัวที่เห็นเล็กๆ นั้นก็คือเห็บเช่นกันแต่เป็นช่วงที่ยังไม่โตเต็มวัย เห็บมันจะเกาะอยู่ที่บนผิวหนังสุนัข มักไม่กระโดดและมักไม่เคลื่อนที่ โดยทั่วไปเห็บสุนัขมีวงจรชีวิตแบบ 3 Host tick คือใน 1 วงจรชีวิตของเห็บนั้นจะทิ้งตัวออกจากตัวสุนัข 3 ครั้ง โดยเริ่มจาก เห็บเพศผู้เพศเมียขึ้นไปดูดกินเลือดและผสมพันธุ์บนตัวสุนัข จากนั้นเห็บเพศเมียที่มีไข่เต็มท้อง ดูดเลือดจนตัวอ้วนเป่ง แล้วทิ้งตัวลงจากตัวสุนัข เพื่อไปวางไข่ตามพื้นแล้วตายไป จนเมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน (มี 6 ขา) สีซีด (มองเห็นด้วยตาเปล่าลำบาก มีขนาดเท่าจุดเล็กๆ) คอยหาสุนัขแล้วขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือด เมื่อตัวอ่อนเติบโตด้วยการดูดเลือดสุนัขจนอิ่ม จะลงจากสุนัข (ครั้งที่ 2) และลอกคราบเติบโตเป็นตัวกลางวัย (มี 8 ขา) ตัวกลางวัยคอยหาสุนัขขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือดสุนัข เมื่อดูดเลือดจนตัวโตเต็มที่จะทิ้งตัวลงจากสุนัข (ครั้งที่ 3) และลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย (มี 8 ขา) และกลับสู่จุดเริ่มต้นเมื่อตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียคอยหาสุนัขขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือด
เลือกวิธีกำจัดที่เหมาะสม
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ให้ผลการควบคุมเห็บบนตัวสุนัขได้ดี ซึ่งเจ้าของต้องใส่ใจ เมื่อพบว่าสุนัขมีเห็บ-หมัด ควรรีบกำจัดให้รวดเร็วเพื่อลดเวลาที่จะได้รับเชื้อโรคที่จะติดมาจากเห็บ แต่การป้องกันต้องแต่เริ่มแรกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ในการควบคุมและกำจัดเห็บหมัดที่สัตวแพทย์แนะนำมีดังนี้
- แบบสเปรย์ วิธีนี้จะให้ผลในการกำจัดเห็บได้ดีและรวดเร็ว โดยต้องทำการพ่นไปให้ทั่วตัวสุนัข ตามขนาดน้ำหนักตัว แต่ค่อนข้างยุ่งยากในการพ่นและมีกลิ่นฉุน แต่หากสุนัขมีเห็บเยอะ วิธีนี้เหมาะสมที่สุดและช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า
- แบบหยดหลัง วิธีนี้ใช้ง่าย เพียงหยดตัวยาในหลอดลงกลางหลังคอของสุนัข โดยแหวกขนเพื่อให้ตัวยาสัมผัสกับผิวหนังให้มากที่สุด เหมาะสำหรับใช้ป้องกันหรือในกรณีที่มีเห็บน้อยๆ
นอกจากนี้เจ้าของยังสามารถใช้ยาแบบผสมน้ำราดตัว ซึ่งมีขอบเขตความปลอดภัยต่ำกว่า หรือเลือกใช้แป้งหรือแชมพู แต่อาจมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า แต่หากว่าน้องหมาติดเห็บ-หมัดมากจริงๆ และใช้เพียงวิธีเดียวไม่ได้ผล อาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้ เช่นแบบสเปรย์หรือหยดหลัง ร่วมกับแบบผสมน้ำราด ร่วมกับอาบน้ำด้วยแชมพูกำจัดเห็บ นอกจากนี้ยังมียาฆ่าเห็บแบบฉีดและกินที่มีใช้นั้นเป็นแบบ EXTRA LABEL USE เป็นการใช้ยาที่นอกเหนือจากที่กำหนด
ทั้งนี้เจ้าของต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้องและปลอดภัย ถ้าไม่ทราบหรือไม่แน่ใจน่าจะขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ ทั้งนี้ถ้าใช้ยากำจัดแล้วยังพบเห็บ-หมัดอยู่อาจเป็นเพราะวิธีการใช้และปริมาณการใช้ไม่ถูกต้อง หรือเห็บที่พบอาจเพิ่งขึ้นมาบนตัวสุนัขจึงยังไม่ได้รับยา หรือบริเวณที่เลี้ยงมีการระบาดของเห็บเป็นปริมาณมาก จึงอาจกำจัดได้ไม่หมดภายในครั้งแรกครั้งเดียว
หมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวน้องหมา
สำหรับการควบคุมเห็บ-หมัดที่อยู่ตามสิ่งแวดล้อม จากวงจรชีวิตของเห็บ จะพบว่าเห็บจะเคลื่อนลงมาที่พื้น 3 ครั้งใน 1 วงจรชีวิต ดังนั้นตามสิ่งแวดล้อมรอบๆ ที่สุนัขอยู่อาจมีเห็บอยู่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมสภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณบ้าน หรือบริเวณที่น้องหมาอยู่ ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งต้องควบคุมและกำจัดเห็บ-หมัดให้กับสุนัขทุกตัวที่เลี้ยงไว้บริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียง เพื่อตัดวงจรเห็บให้หมดไป และป้องกันการติดซ้ำจากตัวที่ยังคงมีเห็บอยู่ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงนำน้องหมาไปในที่ๆ ที่มีเห็บ เช่น งดการออกวิ่งนอกบ้านหรือตามพื้นดินพื้นหญ้านอกบ้าน หรือแม้แต่ในสนามหญ้าในบ้าน เพราะบางครั้งอาจมีสุนัขบริเวณหน้าบ้านที่มีเห็บผ่านมาและปล่อยเห็บลงมาตามพื้น ซึ่งจะติดสุนัขของเราได้ ทางที่ดีควรจำกัดสุนัขให้อยู่แต่ในบ้านน่าจะดีที่สุด แต่ถ้าสุนัขมีความจำเป็นต้องวิ่งออกนอกบ้านประจำ ควรใช้ยาเป็นประจำทุกๆ เดือน เพื่อป้องกันและกำจัดการติดขึ้นมาใหม่
ที่สำคัญในการกำจัดเห็บ-หมัดนั้นเจ้าของเองต้องมีความระมัดระวังด้วย เพราะคนก็สามารถโดนเห็บเกาะได้เช่นกัน บางคนอาจแพ้ได้ แม้จะมีรายงานเพียงเล็กน้อยว่าคนสามารถติดโรคพยาธิในเม็ดเลือดจากเห็บได้ แต่ไม่ต้องตกใจเพราะถึงอย่างไรก็ตามคนก็ไม่ใช่ที่อาศัยเฉพาะของเห็บ-หมัด ผู้ที่สนใจรายละเอียดเรื่องการควบคุมและกำจัดเห็บ-หมัด สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ โทร. 0-2712-6301-4 สาขาลาดพร้าว โทร. 0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550-1 หรือติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ www.thonglorpet.com
ที่มา : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ