ปูทะเลเป็นสัตว์ทะเลซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการ เกษตรกรชายฝั่งทะเลนิยมนำปูโพรก มาเลี้ยงขุนเป็นปูเนื้อและปูไข่ การจำแนกชนิดและลักษณะโครงสร้าง ปูทะเลมีส่วนประกอบ ของโครงสร้าง คือ มีส่วนหัวกับอกรวมกัน ส่วนนี้จะมีกระดองห่อหุ้มไว้ ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลำตัวของปูเป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า "จับปิ้ง" พับอยู่ใต้กระดอง จับปิ้งเป็นอวัยวะที่ใช้เป็นที่อุ้มพยุงไข่ของแม่ปู นอกจากนี้ยังเป็นอวัยวะที่ใช้แยกเพศ คือ ในเพศเมียจับปิ้งจะมีลักษณะกว้างปลายมนกลมกว่าของเพศผู้ ซึ่งมีรูปเรียวและแคบ กระดองของปูทะเลมีลักษณะเป็นรูปไข่มีส่วน ยาวแคบกว่าส่วนกว้างของกระดองด้านหน้าระหว่างตามีหนามแหลม 6 อัน เรียงกันและมีหนามเรียงจากตาไปทางด้านซ้าย-ขวาของกระดองด้านละ 9 อันตาของปูทะเลเป็นตารวม ประกอบด้วยตาเล็กๆ จำนวนมาก มีความรู้สึกไวต่อสิ่งเคลื่อนไหวอยู่รอบตัว และยังมีก้านตาช่วยในการชูลูกตาออกมาภายนอกเข้า และหดกลับเข้าไปได้ ปูทะเลมีขา 5 คู่ ขาคู่แรกอยู่หน้าสุดมีขนาดใหญ่มากเรียกว่า "ก้ามปู" ปลายก้ามปูแยกออกเป็น 2 ง่ามมีลักษณะคล้ายคีมใช้จับเหยื่อกินและป้องกันตัว ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า "ขาดิน" ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า "ขาว่ายน้ำ"ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย
แหล่งที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของปูทะเล ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามันโดยเฉพาะมีชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลนหรือเลนที่มีป่าแสม และโกงกาง
วงจรชีวิตของปูทะเล ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำกร่อยที่มีการอพยพย้ายถิ่น เพื่อการแพร่พันธุ์โดยปูเพศเมียจะอพยพจากแหล่งหากินในบริเวณเขตน้ำกร่อยออกไปวางไข่ในทะเล ลูกปูวัยอ่อนมีอยู่ 2 ระยะคือ ระยะ Zoea 1-5 และ Megalopa 1 ระยะ ในระยะ Zoea เป็นระยะที่ระยางค์ว่ายน้ำยังไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ จึงล่องลอยหากินไปตามกระแสน้ำเมื่อเข้าระยะ Megalopa จะมีการว่ายน้ำสลับกับการหยุดเกาะอยู่กับที่เป็นครั้งคราว เมื่อลูกปูลอกคราบจากระยะ Megalopa เป็นปูที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ ปูเพศเมียที่สมบูรณ์เพศและผ่านการจับคู่ผสมแล้วจะอพยพออกไปวางไข่
อาหารและลักษณะการกินอาหาร สำหรับอาหารที่ตรวจพบในกระเพาะอาหารของปูทะเลได้แก่ หอยฝาเดียว หอยสองฝา กุ้ง ปู ปลา และเศษพืช ปกติแล้วปูทะเลจะไม่กินอาหารที่มีการเคลื่อนที่หรือสามารถหลบหลีกได้ดี เช่น ปลาและกุ้งเมื่อปูทะเลกินอาหารพบว่า อวัยวะสำคัญที่ใช้ในการดักจับเหยื่อ และตรวจสอบวัสดุต่างๆว่าเป็นอาหารหรือไม่ คือ ส่วนปลายของขาเดินอาหารจะถูกส่งเข้าไปในปากผ่านไปถึงกระเพาะแล้วออกสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งทอดผ่านจับปิ้ง กากอาหารจะถูกถ่ายออกมาทางปล้องปลายสุดของจับปิ้งการเลือกแหล่งหากินของปูทะเล ปูทะเลแต่ละวัยหากินในบริเวณที่แตกต่างกัน คือ ปู วัยอ่อน (Juvenile ขนาด 20-99 มิลลิเมตร) หากินในบริเวณป่าชายเลนและอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ขณะที่น้ำทะเลได้ลดลงแล้ว ปูวัยรุ่น(Subadult ขนาด 100-149 มิลลิเมตร)เป็นพวกตามการขึ้นของน้ำเข้ามาหากินในบริเวณป่าเลนและกลับลงสู่ทะเลไปพร้อมๆกับน้ำทะเล ปูโตเต็มวัย(Adult ขนาดตั้งแต่ 150 มิลลิเมตรขึ้นไป) มีการแพร่กระจายเข้ามาหากินพร้อมกับระดับน้ำที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในระดับลึกกว่าแนวน้ำลงต่ำสุด
การเจริญเติบโต ปูทะเลเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบระยะเวลาตั้งแต่ลอกคราบหลบซ่อนตัวจนกระทั่งกระดองใหม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถออกมาจากที่ซ่อนได้กินเวลาประมาณ 7 วัน ปูทะเลในเขตร้อนจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขั้นสมบูรณ์เพศประมาณ 1.5 ปี
ฤดูกาลผสมพันธุ์และวางไข่ ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม และแม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ปูทะเลสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคมไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง
การเลี้ยงปูทะเลมี 2 วิธี 1. เลี้ยงโดยวิธีขุน - นำปูที่มีขนาดตั้งแต่ 1-4 ตัว/กก. ขณะที่ยังเป็นปูโพรกและปูเพศเมียที่มีไข่อ่อนมาขุนเลี้ยง 20-30 วัน
การเลือกทำเล1. อยู่ใกล้แหล่งน้ำกร่อย (ความเค็ม 10-30 ppt.)2. เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเลโดยที่น้ำไม่ท่วมบ่อขณะเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงสุดและสามารถ ระบายน้ำได้แห้ง เมื่อน้ำลงต่ำสุด3. มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมสะดวก4. สภาพดินเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย5. เป็นแหล่งที่สามารถจัดหาพันธุ์ปูทะเลได้สะดวก6. เป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพและมลภาวะ
การสร้างบ่อ1. ควรมีพื้นที่ประมาณ 200-600 ตารางเมตร2. ขุดช่องรอบบ่อลึกประมาณ 80 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ความลึกของบ่อ 1.5-1.8 เมตร3. ประตูน้ำมีประตูเดียว (ทำเหมือนประตูนากุ้ง) หรือฝังท่อเอสลอนเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ท่อเดียวโดยใช้ฝาเปิดปิดก็ได้ ยังใช้เป็นทางระบายน้ำเข้า-ออกทางเดียวกัน4. บริเวณคันบ่อและประตูน้ำใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก อวนมุ้งเขียวหรือแผ่นกระเบื้องปักกั้นโดยรอบ เพื่อป้องกันการหลบหนีของปู โดยสูงจากขอบบ่อและประตู 0.5 เมตร5. ใช้ตะแกรงไม้ไผ่ขนาดกว้างของซีกไม้ 1-1.5 นิ้ว ห่างกันไม่เกินซี่ละ 1 เซนติเมตร กั้นตรงประตูระบายน้ำ
การเตรียมบ่อและการจัดการบ่อ 1. ถ้าเป็นบ่อใหม่ควรทำความสะอาดบริเวณรอบบ่อ กำจัดวัชพืช ลอกเลนก้นบ่อ ถมรอยรั่วตามคันบ่อ โรยปูนขาว 60 กก./ไร่2. กักเก็บน้ำในบ่อลึกประมาณ 1 เมตร3. ถ่ายเปลี่ยนน้ำทุกวัน (ในปริมาณ ? หรือแห้งบ่อ)
การรวบรวมพันธุ์ ซื้อปูทะเลมาจากชาวประมงขนาด 1-4 ตัว/กก. และปูไข่อ่อนขนาด 1-3 ตัว/กก. ควรเป็นปูที่มีระยางค์สมบูรณ์อย่างน้อยมีก้าม 1 ก้าม
การปล่อยและการจัดการด้านอาหาร การปล่อยปูลงขุนในบ่อ ปล่อยปูความหนาแน่น 2-3 ตัว/ตรม. ก่อนที่จะปล่อยปูลงในบ่อเลี้ยง จะใช้น้ำในบ่อรดตัวปูให้ชุ่ม จากนั้นตัดเชือกมัดปูออกปล่อยให้ปูคลานในบ่อ ขณะเลี้ยงมีการดูแลและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1 เมตร
การให้อาหาร ให้อาหารสดวันละครั้งในตอนเย็นหรือหลังกักเก็บน้ำเต็มบ่อโดยลาดให้ทั่วบ่อหรือสาดใส่ในถาดอาหารที่วางไว้รอบบ่อ อาหารที่นิยมเลี้ยงมี 2 ชนิด คือ ปลา เป็ด และหอยกะพง- ปลาเป็ด นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 1-2 นิ้ว อัตราการให้ประมาณ 7-10% ของน้ำหนักปู- หอยกะพง ให้ประมาณ 40% ของน้ำหนักปู
การเก็บเกี่ยวผลผลิต1. การตักปูเล่นน้ำ วันที่จับปูทะเลเป็นวันที่ระดับน้ำทะเลขึ้นลงสูง2. การจับน้ำแห้งหรือคราดปู3. การเกี่ยวปูในรู
การเลี้ยงโดยวิธีอนุบาลลูกปู นำปูที่มีขนาด 6-10 ตัว/กก. มาเลี้ยงในระยะเวลาตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปจนได้ปูขนาดใหญ่
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปูทะเล1. ขาดแคลนพันธุ์ปูในบางฤดูกาล2. การขโมย3. การตลาดซึ่งถูกกำหนดราคาขาย-ซื้อ โดยแพสัตว์น้ำทำให้ในช่วงที่มีปูมากราคาปูจะตกจนผู้เลี้ยงประสบการขาดทุน4. ศัตรูทั้งในกรณีการกินกันเอง หรือทำร้ายกันเองของปูและพยาธิ
ที่มา : สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมงภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต