จากผลสำเร็จของการเลี้ยงปลาแซลมอนและปลาเทราต์ในประเทศนอร์เวย์ โดยมีการเลี้ยงในกระชังทะเลลึก ทำให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาใน การเลี้ยงปลาทะเลในกระชังทะเลลึกประเทศอื่น ๆ ตามมา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงในบ่อดิน,ลำคลองหรือชายฝั่ง ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเลี้ยงปลาช่อนทะเลซึ่งเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการที่จะส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ เนื่องจากเป็นปลาที่มีเนื้อสีขาวนอกจากสีซึ่งช่วยให้น่ารับประทานแล้ว ในเนื้อปลาช่อนทะเลที่เลี้ยงในกระชังทะเลลึกยังมีปริมาณโอเมก้า 3, EPA และ DHA มากกว่าปลาเลี้ยงชนิดอื่น ทำให้ปลาช่อนทะเลเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดปลาดิบ (ซาซิมิ)
คุณทวี จินดามัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้บอกถึงจุดมุ่งหมายของการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังทะเลลึกเน้นเรื่องการส่งออก เพื่อให้ราคาและคุณภาพมีความสามารถ แข่งขันกับปลาชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น ปลาแซลมอนโดยจะต้องค้นหาวิธีการในการลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มคุณภาพเนื้อปลาช่อนทะเล ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับ การจัดการ ราคาอาหารและคุณภาพของ อาหาร ดังนั้นในการศึกษาวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาช่อนทะเลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์, การเพาะฟัก, การจัดการเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแปรรูปและการขนส่ง จะต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุน และผลักดันการเลี้ยงปลาช่อนทะเลใน กระชังทะเลลึกเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้ได้ คุณทวีบอกว่ากระชังที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนทะเลจะต้องเป็นกระชังที่มีขนาดใหญ่ซึ่งจะยึดเอาเส้นรอบวงของตัวกระชังเป็นเกณฑ์ โดยจะต้องมีเส้นรอบวงอย่างน้อย 50 เมตร สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีเอกชนหรือเกษตรกรรายใดที่ดำเนินการเลี้ยงปลาในกระชังขนาดใหญ่ในทะเลลึกเพื่อเป็นอุตสาหกรรมส่งออก มีเพียงแต่กรมประมงที่จัดทำโครงการนำร่องเลี้ยงปลาชนิดนี้ในทะเลลึกที่บ้านแหลมหิน ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา โดยกระชังมีเส้นรอบวง 50 เมตร,เส้นผ่าศูนย์กลาง กระชัง 16 เมตร ลึก 6 เมตร มีพื้นที่ผิวประมาณ 200 ตารางเมตร ปริมาตรน้ำในกระชัง 1,200 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 3 กระชัง ปล่อย ปลาลงเลี้ยงจำนวน 20,400 ตัว เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นเวลา 412 วัน ได้ปลาช่อนทะเลที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 5.42 กิโลกรัม ในอนาคตการเลี้ยงปลาในกระชังทะเลลึกเพื่อการส่งออกมีความเป็นไปได้ ภาคเอกชนสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้ในการศึกษาและต่อยอดได้ในอนาคต รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ โทร. 0-3938-8116-8.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ :เดลินิวส์ ออนไลน์