ความนิยมของการบริโภคไก่พื้นเมืองของคนไทยยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยมีเนื้อแน่นและกลิ่นหอมกว่าไก่พันธุ์จากต่างประเทศ ราคาขายของไก่พื้นเมืองจึงสูงกว่า แต่ถ้าเลี้ยงไก่พื้นบ้านด้วยอาหารข้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยธรรมชาติ ปัจจุบันพบว่าปริมาณของไก่พื้นเมืองของไทยลดลงเป็นจำนวนมาก ด้วยสาเหตุหลักจากการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า ไข้หวัดนก โครงการไก่เนื้อไทยสายพันธุ์ตาก จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง กรมปศุสัตว์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 มาจนถึงปี พ.ศ. 2552 โดยวิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตากได้ปรับปรุงคัดเลือกไก่สายแม่พันธุ์เซี่ยงไฮ้ผสมกับพันธุ์ บาร์พลีมัธรอคและพันธุ์โร้ดไอแลนด์เรด นำมาผสมกับพ่อพันธุ์ไก่พื้นเมืองเหลืองหางขาวที่นำมาจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์กบินทร์ บุรี จ.ปราจีนบุรี เพื่อผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วและให้ไข่มากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เกิดเป็นไก่ลูกผสม 4 สายเลือดและตั้งชื่อพันธุ์ว่า ไก่เนื้อไทยสายพันธุ์ตาก เพียงแต่ในการเลี้ยงดูจะต้องใช้อาหารสำเร็จรูปร่วมด้วยไม่ต่ำกว่า 50% โดยเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อยให้อาหารเช้า-เย็น ใช้อาหารสำเร็จรูปผสมรำปลายข้าวและข้าวโพดบดโดยหาซื้อในตลาดและโรงสีใกล้เคียง ให้กินหญ้ากินแมลงในธรรมชาติด้วย ปัจจุบันไก่เนื้อไทยสายพันธุ์ตาก ส่วนหนึ่งได้นำไปแจกให้เกษตรกรเลี้ยงบนที่สูง อ.แม่สอด, แม่ระมาด, ท่าสองยาง, พบพระและอุ้มผาง เป็นต้น โดยพันธุ์ไก่ที่ส่งไปมีอายุ 1 เดือน พบว่าไก่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงง่าย โตเร็วและแข็งแรง เมื่อนำข้อมูลการเลี้ยงมาสรุปร่วมกับงานวิจัยพบว่าเมื่อไก่เนื้อไทยสายพันธุ์ตากมีอายุได้ 12 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยคละเพศ 1,300 กรัมต่อตัว และเมื่อเลี้ยงจนครบ 4 เดือนน้ำหนักเฉลี่ยของไก่เพศผู้จะได้ 1,600 กรัม และเพศเมีย 1,200 กรัม ซึ่งเป็นช่วงที่ไก่มีรสชาติดีที่สุด จำหน่ายได้ราคากิโลกรัมละ 65-70 บาท เมื่อชำแหละแล้วจำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 100-120 บาท ขณะนี้ไก่ลูกผสมสายพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของ ผู้บริโภคในเขต จ.ตากและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จ.กำแพงเพชร, สุโขทัย, อุตรดิตถ์และนครสวรรค์ เป็นต้น
ไก่เนื้อไทยสายพันธุ์ตากที่ผสมพันธุ์ได้ในครั้งนี้ คุณอนันต์ สุขลิ้ม นักวิชาการสัตวบาลชำนาญพิเศษบอกว่าเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรขนาดกลางสามารถนำ ไปเลี้ยงในท้องถิ่นได้ แต่จะต้องเป็นการ เลี้ยงแบบโรงเรือนเปิดที่มีตาข่ายคลุมเพื่อป้องกันนกไม่ให้เป็นพาหะนำโรคเข้ามาในเล้า ซึ่งการเลี้ยงไก่จะสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรหลังการทำนา.ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดิลินิวส์ ออนไลน์