ในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยได้จ้าง ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ ซึ่งก็คือกรมประมงในปัจจุบัน เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่าง ๆ ในประเทศไทย มีหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระพันธุ์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา ท่านผู้นี้เป็นผู้วาดภาพปลาทูภาพแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2468 ไทยนำเรืออวนตังเกจาก จีน มาใช้ ทำให้จับปลาทูได้มาก ปลาทูที่เหลือทำเป็นปลาทูเค็มส่งไปขายต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ต่อมา พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยนำเครื่องมืออวนลากจาก เยอรมนีตะวันตก มาใช้และเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกทำให้การประมงขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยลดจำนวนลงในที่สุด ในอดีตเชื่อว่าปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทยมาจาก เกาะไหหลำ แต่ปัจจุบันพบว่าปลาทูเกิดในอ่าวไทยเป็นปลาผิวน้ำ รวมกันเป็นฝูงบริเวณใกล้ฝั่ง พบเฉพาะบริเวณอุณหภูมิผิวน้ำไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน 32.5% แต่ทนความเค็มต่ำได้ถึง 20.4% จึงพบในบริเวณน้ำกร่อยได้ ปลาทูวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ ช่วงที่วางไข่คือกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม การวางไข่ของกลุ่มประชากรปลาทูบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกมีการวางไข่ตลอดปี แต่ฤดูกาลที่ปลาทูวางไข่มากมี 2 ช่วง ช่วงแรกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ช่วงที่สองระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ ปลาทูจะเริ่มอพยพไปยังแหล่งวางไข่ในเดือนธันวาคมถึงมกราคม ส่วนลูกปลาที่เกิดใหม่จะเดินทางเข้าหาฝั่งในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ต่อจากนั้นปลาทูวัยสาวจะอพยพเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยตอนใน บริเวณจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม โดยพบหนาแน่นมากที่สุดช่วงเดือนตุลาคม แล้วจึงมีการเคลื่อนย้ายฝูงไปสู่แหล่งวางไข่ต่อไป สำหรับปลาทูที่ได้วางไข่เรียบร้อยแล้วก็จะเลี้ยงตัวอยู่ในน่านน้ำฝั่งตะวันตกเพื่อวางไข่ครั้งที่ 2 แหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลาทู ได้แก่ บริเวณแหลมแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรและบริเวณเกาะอ่างทอง เกาะพะงัน เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก 200 เมตร ในน่านน้ำไทย พบทั้งหมด 3 ชนิด เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิต คนไทย เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาหารทะเลหลักของคนไทยมาช้านาน เนื้อปลาทูมีสาร โอเมก้า 3 ค่อนข้างมาก ในเนื้อปลาทู 100 กรัม มีสารโอเมก้า 3 ราว 2-3 กรัม ช่วยลดอัตราการตายจาก โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดตีบ และยังลด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความหนืดของ เลือด ลดการอักเสบ ทำให้ความข้นในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากที่ทะเลไทยมีปริมาณประชากรปลาทูน้อยลง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงจึงได้จัดทำโครงการปิดอ่าวเพื่อลดการจับปลาทูในฤดูวางไข่ขึ้นติดต่อมาหลายปี จนปริมาณประชากรปลาทูในทะเลไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และในปี 2553 นี้ก็เช่นกัน โครงการดังกล่าวก็ได้รับการนำมาปฏิบัติเช่นทุกปี ซึ่ง ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมประมงได้กำหนดให้มีการใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้านทะเลฝั่งอ่าวไทย เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี โดยห้ามไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยโดยเครื่องมือและระยะเวลาตามที่กรมประมงประกาศ หากมีการฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าวฯ นี้ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์