การเลี้ยงกระบือในประเทศไทย มีสถิติประชากรลดลงอย่างน่าเป็นห่วง อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ก้าวหน้าทันสมัยมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานจากกระบือในการประกอบอาชีพการเกษตร ทำให้ประเทศไทยมีการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของกระบือที่มีลักษณะดีต่อไปยังกระบือรุ่นลูกหลาน ปัจจุบันยังคงมีปัญหาการขาดแคลนกระบือปลัก สำหรับใช้ในการเกษตร และเศรษฐกิจที่แปรปรวน ทำให้การใช้เครื่องจักรและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนการผลิตที่ผันแปร การอนุรักษ์วิถีทางการเกษตร โดยหันมาใช้กระบือปลักในการทำนาข้าว ในพื้นที่การเกษตรขนาดเล็ก สำหรับเกษตรกรที่ยังยากจน เพื่อลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ช่วยฟื้นฟูอินทรีย์สารในดินให้อุดมสมบูรณ์ และรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่อย่างยั่งยืน สนองปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมปศุสัตว์ โดย สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ เล็งเห็นความสำคัญที่จะสร้างโอกาสในวิถีการเกษตร สร้างทางเลือกให้เกษตรกร จึงได้จัดทำ โครงการผลิตพ่อแม่กระบือปลักไทยพันธุ์ดีในหมู่บ้าน ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายพันธุ์กระบือปลักไทยพันธุ์ดีในแหล่งการเกษตรขนาด เล็กและเพื่ออนุรักษ์พันธุ์กระบือปลักไทยให้คงอยู่ร่วมกับการเกษตรแบบพอเพียง ซึ่งตั้งเป้าหมายจะดำเนินการผสมเทียมแม่กระบือด้วยน้ำเชื้อพ่อกระบือปลักไทยพันธุ์ดี 5,000 ตัว รวมทั้งบำรุงสุขภาพแม่กระบือและลูกกระบือ 10,000 ตัว โครงการนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อการเกษตร ทาง ด้านสังคม เกษตรกรรายย่อย ที่เลี้ยงกระบือเพื่อทำอาชีพการเกษตร จะมีความผูกพันกับกระบือและอนุรักษ์รักษาพันธุ์กระบือในท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย วิถีการ ทำนาข้าวหรือประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแบบดั้งเดิมจะยังคงได้รับการ อนุรักษ์ให้คงอยู่ประจำท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ แม่กระบือของเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์กระบือจนได้ลูกกระบือพันธุ์ดี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร สามารถนำไปใช้งานด้านการเกษตรทดแทนการใช้เครื่องจักร ลดการใช้พลังงาน ช่วยลดต้นทุนและสามารถเพาะขยายจำหน่ายได้ราคาดี มี รายได้เพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง ด้านสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงกระบือในพื้นที่การเกษตร มูลและสิ่งขับถ่ายจากกระบือ สามารถนำไป ใช้ทำก๊าซชีวภาพสำหรับใช้ในครัวเรือน ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินได้เป็นอย่างดี ลดการเสื่อมสภาพของดินและไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ ของเกษตรกรมีการเหนี่ยวนำสัดและผสมเทียม การผสมเทียม การดูแลสุขภาพแม่และลูกกระบือ รวมทั้งการฝังไมโครชิพในกระบือ พื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่จะดำเนินการทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลรับผิดชอบของศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ 3 แห่ง คือ นครราชสีมา ขอนแก่น และ อุบลราชธานี แต่อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ก็มีพ่อกระบือพันธุ์ดีกระจายไปให้ทุกจังหวัดที่มีหน่วยผสมเทียม สำหรับบริการให้เกษตรกรที่มีความต้องการน้ำเชื้อกระบือพ่อพันธุ์ดี กิจกรรมหลักของโครงการ คือ การผสมเทียมแม่กระบือพันธุ์ดีให้ตั้งท้อง ด้วยน้ำเชื้อพ่อกระบือพันธุ์ดี ความยุ่งยาก ไม่ได้อยู่ที่การผสมเทียม แต่อยู่ที่การจัด การ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกร อย่างมาก กล่าวคือ หลังจากที่ได้ผสมเทียมแม่กระบือแล้ว จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้แม่กระบือได้รับการผสมซ้ำจากกระบือผู้ที่มีอยู่ในละแวกเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสผิดพลาดของการเกิดลูกกระบือพันธุ์ดี ประเด็นนี้ เกษตรกรต้องเข้าใจและช่วยระวังดูแล ถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว เกษตรกรก็จะเสียโอกาสไป 1 ปี เต็ม เพื่อให้แม่กระบือคลอดลูกและรอการตั้งท้องครั้งใหม่ กรณีที่เกษตรกรอยู่ห่างไกลมาก และการคมนาคมไม่สะดวก เกษตรกรสามารถขอรับบริการผสมเทียมแม่กระบือด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์มีบริการนัดหมายกลุ่มเกษตรกรนำแม่กระบือมารวมกัน เพื่อทำการปรับรอบการเป็นสัด ให้แม่กระบือทุกตัวเป็นสัดพร้อมกัน และสามารถรับการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อพ่อกระบือพันธุ์ดีได้ในคราวเดียวกัน วิธีนี้ สะดวกสำหรับเกษตรกรที่ไม่ต้องเสียเวลาเฝ้าตรวจรอบการเป็นสัดในแม่กระบือและไม่เสียเวลาในการทำงานการเกษตรของตน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้บริการผสมเทียม ก็สะดวกในการเดินทางไปครั้งเดียวสามารถ บริการผสมเทียมแม่กระบือได้หลายตัว ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการบริการผสมเทียมได้มาก แต่วิธีนี้จะมีต้นทุนสูงในเรื่องเวชภัณฑ์พิเศษที่ใช้ในการปรับรอบการเป็นสัดให้ตรงกัน อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ก็ได้เตรียมแผนดำเนินการในส่วนนี้ไว้แล้ว เพียงแต่ขอให้เกษตรกรแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อการประสานงานและเตรียมการต่อไป.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์