เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันปลาน้ำจืดสวยงามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยมีถิ่นกำเนิดและอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในลุ่มน้ำ อะเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ เกษตรกรไทยได้นำปลาสวยงามเหล่านั้นมาทำการเพาะเลี้ยงจนประสบความสำเร็จและมีการพัฒนาในเรื่องการเลี้ยงไปมาก สามารถผลิตลูกปลาได้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลทั้งผู้เลี้ยงในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการผลิตปลาน้ำจืดสวยงามเพื่อการส่งออกก็คือ การเกิดโรค อย่างกรณีของผลการวิจัยปลาปอมปาดัวร์ที่ป่วยและแสดงอาการภายนอกเหมือนกัน เช่น อาการผอมผิดปกติ สีผิวคล้ำ ซึม รวมกลุ่มอาศัยตามพื้นตู้และไม่กินอาหาร เป็นต้น ดร.ฐิติพร หลาวประเสริฐ จากสถาบัน วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ได้ให้รายละเอียดของอาการเกิดโรคดังกล่าวในปลาปอมปาดัวร์ว่าอาจเกิดได้จากปรสิตโปรโตซัวมีแส้ หรืออาจเกิดจากปรสิต ตัวกลม หรือที่รู้จักกันทั่วไปคือ พยาธิเส้นด้ายถ้าตรวจวินิจฉัยโรคแล้วพบว่าการป่วยเกิดจากโปรโตซัว ความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูงและรักษาโรคได้ยากมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่นิยมรักษา มักจะกำจัดปลาที่เป็นโรคเพื่อตัดวงจรชีวิต แต่ถ้าปลาปอมปาดัวร์ป่วยเกิดจากพยาธิเส้นด้ายหรือปรสิตตัวกลม (รูปร่างของพยาธิเส้นด้ายจะมีลักษณะรูปร่าง ลำตัวกลม เพรียว ยาว หัวแหลมท้ายแหลม ไม่มีข้อปล้องคล้ายเส้นด้าย มีสีขาวหรือสีเนื้อ มีขนาดเล็กมาก ๆ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จะต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์) สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาถ่ายพยาธิ การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นทำได้ด้วยการเก็บมูลถ่ายใหม่ ๆ ของปลาปอมปาดัวร์ที่มีอาการของโรคมาตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ อาจจะพบ ไข่หรือตัวอ่อนของปรสิตตัวกลม แต่ถ้า เป็นโรคเกิดจากโปรโตซัวจะสังเกตได้ยาก กว่า เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ๆ และตัว ใส ไม่มีสี แต่จะดูให้ละเอียดชัดเจนด้วยการย้อมสี
ปัจจุบันพบว่าพยาธิเส้นด้ายที่พบมากในปลาปอมปาดัวร์ในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแคบพิลาเรียและอิ๊กชีโอยูริส และมีการสันนิษฐานว่าการพบพยาธิเส้นด้ายทั้ง 2 ชนิดนี้น่าจะปนเปื้อนมากับปลาปอมปาดัวร์ตั้งแต่เริ่มนำเข้ามาในประเทศไทยและมีการแพร่กระจายของโรคในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ การแพร่กระจายของโรคจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งในประเทศนั้นอาจจะเกิดขึ้นโดยการนำปลารุ่นใหม่เข้ามาในฟาร์มโดยไม่มีระบบการกักกันโรคและเกิดการแพร่กระจายจาก ตู้หนึ่งไปยังอีกตู้หนึ่งภายในฟาร์มเดียว กัน วิธีการป้อง กันการปนเปื้อนปรสิตตัวกลมทำได้โดยการจัดการสุขอนามัยฟาร์มที่ดี การจัดการให้อาหารที่สะอาด การกำจัดเศษอาหารและตะกอนเพื่อตัดวงจรชีวิตของปรสิต รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด โทร. 0-2579-4122.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์