กรมประมงเน้นย้ำประชาชนตระหนักถึงอันตรายของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานสัตว์น้ำพื้นเมืองจนเสี่ยงสูญพันธุ์ แห่จัดกิจกรรม รณรงค์อย่าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะสำเร็จหรือไม่ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หลายคนคงจะคุ้นหู กับคำว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien species) ซึ่งหมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา แต่มีการนำเข้ามาจากถิ่นอื่น บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยทำให้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี จนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมือง ถือเป็นการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก เราจึงเรียกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนี้ว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวจัดเป็นเรื่อง สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นอันดับสองรองจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานที่จะผลักดันให้มีการจัดการกับเอเลี่ยนสปีชีส์ สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลทางวิชาการ ปัจจุบันมีชนิดพันธุ์ของเอเลี่ยนสปีชีส์อยู่มากกว่า 3,500 ชนิด ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากในอดีตมีการนำเข้าค่อนข้างมาก ทั้งนำมาเพื่อเพาะเลี้ยงเป็นอาหาร เป็นปลาสวยงาม หรือเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ซึ่งวัตถุประสงค์ในการนำเข้ามาล้วนแล้วแต่ก่อให้ เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ ต้องสามารถควบคุมหรือจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะได้ เพราะหากหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะเป็นอันตรายต่อทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เราอย่างมาก เพราะพวกเอเลี่ยนสปีชีส์บางชนิดจะไปแย่งที่อยู่อาศัย แย่งอาหาร บางชนิดทำลายแหล่งวางไข่ เช่น ปลาซัคเกอร์ ปลาซิวไต้หวัน ที่ร้ายแรง คือ ไปทำร้าย กัดกินสัตว์น้ำพื้นเมือง เช่น ปลาช่อนอะเมซอน ปลาอัลลิเกเตอร์ การ์ ปลาดุกแอฟริกัน ปลากะพงแม่น้ำไนล์ ซึ่งถือเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง นอกจากนี้ สัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ยังก่อให้เกิดการเสื่อมทางพันธุกรรม เพราะบางชนิดสามารถผสมข้ามกับพันธุ์พื้นเมืองได้ เป็นการทำลายชนิดพันธุ์แท้ไป เช่น ปลาดุกแอฟริกันผสมกับปลาดุกอุย ทำให้ปลาดุกอุยในธรรมชาติลดจำนวนลง อีกทั้งยังเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคและปรสิต ต่าง ๆ เข้ามาแพร่สู่สัตว์น้ำพื้นเมืองและคนด้วย เช่น ปลาจีนนำปรสิตหนอนสมอและราปุยฝ้าย หอยเชอรี่ที่นำพยาธิมาสู่คน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นเหตุให้สัตว์น้ำพันธุ์พื้นเมืองลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไป ในที่สุด
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญและเร่งแก้ปัญหามาโดยตลอด ทั้งการออกระเบียบและข้อกำหนดในการจัดการสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ในส่วนของกรมประมง ได้ออก 3 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหา คือ 1) มาตรการควบคุมการนำเข้า : ออกพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุญาต นำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้ามาแล้ว อีกทั้งยังมีการกำกับดูแล การนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำอย่างเคร่งครัด 2) การศึกษาวิจัย : มีนโยบายเร่งศึกษาวิจัยชีววิทยาเพื่อหาแนวทางควบคุมปริมาณ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น 3) มาตรการป้องกัน ลด ผลกระทบและแก้ไขปัญหา : ให้ความรู้แก่ประชาชนได้ทราบถึงอันตรายของสัตว์น้ำ ต่างถิ่นที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย รวมทั้งรณรงค์ไม่ให้ประชาชนปล่อยสัตว์น้ำที่เป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ปล่อยปลา ซัคเกอร์ ตามความเชื่อว่าเป็นปลาราหู จะช่วยสะเดาะเคราะห์ได้นั้นขอความร่วมมือให้ปล่อยปลาพื้นเมือง เช่น ปลาไหล ปลาช่อน แทน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนที่มีสัตว์น้ำต่างถิ่นที่เลี้ยงไว้ หรือ ที่จับได้และไม่ต้องการเลี้ยงต่อ นำมาแลก พันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่กรมประมง เช่น วันกำจัดปลาซัคเกอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่นให้หมดไป ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน จึงขอให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและร่วมกันดูแลไม่ให้มี การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอีกต่อไป .ได้ไหม.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์