เข้าใจ ใส่ใจ ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า "มาป้องกันตัวเราและสัตว์เลี้ยงของเราจากโรคพิษสุนัขบ้ากันเถอะ"
สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า Rabies virus (รูปที่ 1)ซึ่งเป็น single-stranded RNA virus, genus Lyssavirus, Family Rhabdoviridae โดยไวรัสชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว กระรอก กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ หนูแกสบี้ เฟอเรต รวมทั้งในคนด้วย
รูปที่ 1 แสดง Rabies virus
การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อ Rabies virus ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในน้ำลายของสัตว์ตัวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเข้าทางบาดแผลผิวหนังหรือหรือแม้แต่เยื่อเมือกที่ถลอกผ่านทางการกัดหรือเลีย โดยเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการเสียหายอย่างถาวรของระบบประสาท ทำให้สัตว์หรือคนที่ติดเชื้อเสียชีวิต 100% จัดเป็นโรคสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า อาการของโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งออกป็น 2 ระยะใหญ่ๆคือ 1. ระยะไม่แสดงอาการ เป็นระยะฟักตัวของไวรัสภายในร่างกาย ซึ่งกินระยะเวลาเป็นเดือนจนถึงหลายปี 2. ระยะแสดงอาการก้าวร้าว ดุร้ายไม่มีสาเหตุ อารมณ์-พฤติกรรมเปลี่ยน ชัก ขากรรไกรแข็งเป็นอัมพาต ทำให้น้ำลายไหลตลอดเวลาไม่สามารถกินหรือกลืนอาหารและน้ำได้ ที่เราเรียกว่าโรคกลัวน้ำ (รูปที่2)
รูปที่ 2 สุนัขที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
แนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้โดย 1. นำสัตวเลี้ยงไปทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากับสัตวแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลรักษาสัตว์ที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากคุณภาพและปริมาณของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตลอดจนขั้นตอนการทำวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการป้องกันโรคได้ภายหลังการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ซึ่งหากวัคซีนที่ใช้ไม่มีคุณภาพ การเก็บรักษาวัคซีนไม่เหมาะสม ใช้วัคซีนในปริมาณไม่เพียงพอ หรือแม้แต่วิธีการฉีดวัคซีนไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้การทำวัคซีนไม่ประสบผลสำเร็จคือไม่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยถ้าเป็นลูกสัตว์จะเริ่มทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่อายุตั้งแต่ 3-4 เดือน และกระตุ้นเข็มที่ 2 ซ้ำในอีก 3-4 สัปดาห์ จากนั้นกระตุ้นซ้ำในทุกๆปี ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจัดเป็นวัคซีนจำเป็นที่ต้องทำให้กับสัตว์เลี้ยง(ลูกด้วยนม) ทุกตัวในบ้านและต้องทำทุกปี 2. หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราไปสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์อื่นที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 3. หากสัตว์เลี้ยงของเราไปสัมผัสหรือถูกสัตว์อื่นที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากัด ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อล้างทำความสะอาดแผล กระตุ้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขซ้ำและอาจต้องกักตัวสัตว์เลี้ยงไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วันในแล้วแต่กรณี
สำหรับในประเทศไทยการก่อโรคของเชื้อ Rabies virus และการติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้านี้สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอทำวัคซีนเฉพาะในหน้าร้อนอย่างเดียว
ที่มา และ ภาพประกอบ : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ