โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นหนึ่งในอีกหลายโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดย 90% ของสัตว์ที่ตรวจพบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าคือ สุนัข รองลงมา คือ แมว โค กระบือ โดยเชื้อจะแพร่จากการที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือเลีย เป็นผลให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายสัตว์เข้าสู่บาดแผลของผู้ถูกกัดหรือเป็นอยู่แล้วและเชื้อผ่านเข้าสู่เส้นประสาทสมองทำให้มีอาการทางประสาท เกิดอัมพาตของระบบหายใจและเสียชีวิตในที่สุด จากรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าใน คนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ปี 2551 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 8 ราย ปี 2552 เสียชีวิต 24 ราย และในปี 2553 (วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 8 มีนาคม) มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วถึง 7 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 2 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน กทม. 3 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี สระบุรี สมุทรปราการและตาก จังหวัดละ 1 ราย โดยสาเหตุหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย คือ ความเข้าใจผิดและความประมาท เช่น เจ้าของสัตว์ เข้าใจว่า ลูกสุนัขหรือสุนัขที่เลี้ยงไว้ภายในบ้าน ไม่สัมผัส กับสัตว์อื่นไม่ต้องฉีดวัคซีน หรือกรณีเมื่อ ถูกลูกสุนัขหรือสุนัขในบ้านกัด ข่วน เลีย จะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือเข้าใจว่าโรคพิษสุนัขบ้า จะเกิดเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น เป็นต้น ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณ สุข, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้ามาอย่างต่อ เนื่อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ได้มุ่งเน้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมดำเนินโครงการรณรงค์ฉีดป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้าโดยมีกิจกรรม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัดทำหมัน การฉีดยาคุมกำเนิด การรับเลี้ยงสุนัขจรจัดและสุนัขที่เจ้าของไม่ต้องการรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนัก ถึงพิษภัยของโรคดังกล่าว ซึ่งจัดเป็นประจำในระหว่างเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายนของทุกปี
ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยงของประชาชน ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ซึ่งดำเนินการในเดือนมีนาคม 2553 ตลอดทั้งเดือน ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศ วิธีที่ดีที่สุด คือ การให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดคนอย่างสุนัขและแมว นอกจากนี้จะต้องปลูกฝังทัศนคติความรับผิดชอบให้ผู้เลี้ยงสุนัข-แมว ไม่ปล่อยสุนัข-แมวในที่สาธารณะ เช่น วัด ชุมชน ถนน สวนสาธารณะ เป็นต้น และอาจลุกลามกลายเป็นสุนัข-แมวจรจัดต่อไป ซึ่งเป็นภาระต่อสังคมและเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เจ้าของสัตว์ในการเลี้ยงและการดูแลสุขภาพสัตว์ที่ถูกต้อง สามารถป้องกันโรคระบาดสัตว์ติดต่อมายังมนุษย์ได้
ถ้าดำเนินมาตรการเหล่านี้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และจริงจัง โรคพิษสุนัขบ้าจะหมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ กรมปศุสัตว์ ขอเชิญประชาชนร่วมโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูก ต้องประจำปี 2553 ระหว่างนี้ไปจนถึง 30 เมษายน 2553 โดยนำสัตว์มารับบริการได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ของท่านได้ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 4142 หรือ www.dld.go.th/dcontrol.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์