ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำเข้าพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นมากมายหลายชนิดเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม อย่างกรณีของปลาฟลาวเวอร์ฮอร์นเป็นปลาลูกผสมที่ใช้ปลาหมอไตรมาคูเลทัสเป็นหลัก แล้วนำปลาหมอสีจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้มาผสมข้ามสายพันธุ์ โดยเน้นถึงความแปลกใหม่และสวยสะดุดตาเกิดเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้ลักษณะเด่นทั้งความสวยงามและรูปร่าง ปลามีรูปร่างหนาและรี หัวมีส่วนนูนออกข้างนอกเป็นโหนกขนาดพอเหมาะกับรูปร่าง มีตาด้านข้างหัวและมีเส้นรอบตา หางและครีบทุกครีบกางออก ตั้งตรงตลอดเวลา นอกจากนั้นปลาฟลาวเวอร์ฮอร์นยังมี ลักษณะลายข้างตัวคล้ายอักษรจีนที่มีความหมายว่า นะโม อมิต ตะพุทธ ทำให้เกิดความเชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ทำให้เพิ่มความนิยมในการเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นปลาสวยงามมากขึ้น คุณตวงมาศ บัวนาค จากสถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ น้ำจืด กรมประมงได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์และภัยเงียบที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงปลาฟลาวเวอร์ฮอร์นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในการเพาะปลาชนิดนี้ในแต่ละครั้งจะได้ลูกปลาในแต่ละครอกครอกละประมาณ 1,000 ตัว และใช้เวลาเลี้ยงนาน 2-3 เดือนลูกปลาจึงจะเติบโตจนเห็นสีสัน
ที่สำคัญผู้เลี้ยงจะทำการคัดปลาที่สวยเก็บไว้ไม่เกิน 10% ที่เหลือจำเป็นต้องทิ้งเพราะสู้ค่าอาหารไม่ไหว ถ้าผู้เพาะเลี้ยงมักง่ายเปิดปล่อยปลาที่คัดทิ้งลงสู่แม่น้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลาฟลาวเวอร์ฮอร์นจัดเป็นปลาเขตร้อนที่มีความอดทนสูงสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ บ้านเราได้เป็นอย่างดีดำรงชีวิตได้ในระดับอุณหภูมิ 22-27 องศาเซลเซียส ทนต่อคุณภาพน้ำที่หลากหลายและจัดเป็นปลาชนิดรุกรานและมีนิสัยดุร้าย หวงถิ่นที่อยู่ กินอาหารเก่งและเจริญเติบโตเร็วมีลักษณะเป็นผู้ล่า ทำให้ปลาพื้นเมืองอาจถูกจับกินเป็นอาหาร (มีรายงานว่ามีผู้พบลูกปลาวัยอ่อนของปลาชนิดนี้บริเวณป่าชายเลน ต.บางปู จ.สมุทรปราการ) ยิ่งไปกว่านั้นในการเลี้ยงปลาชนิดนี้จะต้องใช้ลูกครอกหรือลูกปลาช่อนหรือปลาชนิดเล็กทุกชนิดเป็นจำนวนมากเป็นอาหาร ขณะนี้พบว่าชาวประมงบริเวณป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส จับลูกปลาเล็ก ๆทุกชนิดจำนวนมาก ส่งขายเป็นอาหารปลาฟลาวเวอร์ฮอร์นให้กับผู้เลี้ยงที่ตลาดโก-ลก และประเทศมาเลเซีย ซึ่งในพื้นที่พรุของภาคใต้มีปลาขนาดเล็กเฉพาะถิ่นอาศัยอยู่คือ ปลาซิวหนู ในอนาคตอาจถูกจับส่งขายจนสูญพันธุ์ได้ นอกจากข้อมูลดังกล่าวปลาฟลาวเวอร์ฮอร์นเป็นปลาที่ชอบคุ้ยเขี่ยหินและไม่ชอบพืชน้ำ จึงอาจทำลายระบบนิเวศเป็นเหตุให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ทางกรมประมงได้เล็งเห็นถึงปัญหา นี้และได้ย้ำว่าหากปล่อยให้ปลาฟลาวเวอร์ ฮอร์นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของไทยจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมือง ของไทยได้.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์