"ไก่ชี เป็นไก่ที่มีลักษณะพิเศษเหมาะสำหรับเลี้ยงขายเป็นไก่เนื้อ เพราะไก่ชีมีขนสีขาวทั้งตัว ปากและแข้งสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง เป็นไก่พื้นเมืองไทยขนาดกลางโดยตัวผู้มีน้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่ 3-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่ 2 กิโล กรัมขึ้นไป ไก่ชีพบทั่วไปทั้งบริเวณภาคเหนือตอนล่างแถบจังหวัดพิษณุโลก กำ แพงเพชร สุโขทัย ภาคกลางแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี เพชรบุรี และภาคตะวันออกแถบจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อสร้างฝูงพ่อแม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองชั้นเลิศ ที่มีการพัฒนาพันธุกรรมให้มีการเจริญเติบโตและคุณภาพซากดีขึ้น โดยในเพศเมียจะไม่เสียความสามารถด้านการให้ไข่ ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์คือ โตดี ไข่ดก อกกว้าง โดยโครงการวิจัยไก่พันธุ์ชี มี ผศ. สุจิตรา สราวิช เป็นผู้จัดการฝูง และ รศ.ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งไก่ชีเป็นไก่พื้นเมืองที่น่าสนใจ สามารถเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากลักษณะภายนอกที่กล่าวแล้วข้างต้น ไก่ชียังมีรสชาติเนื้อที่อร่อยเป็นที่ถูกปากของผู้บริโภคทั่วไป ในแง่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากไก่พันธุ์ชีหลังจากได้รับการปรับปรุงพันธุ์ ไก่พันธุ์ชีสามารถผลิตเป็นไก่พันธุ์ชี แท้เพื่อขายเน้นตลาดต่างประเทศ เพราะซากมีความสะอาดเนื่องจากขนสีขาว แข้งเหลือง และผิวหนังเหลืองอมขาว เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถใช้พ่อพันธุ์ไก่พันธุ์ชีผสมพันธุ์กับไก่สายพันธุ์เพศเมียไก่เนื้อเพื่อผลิตลูกผสม ไก่บ้านไทย เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย จะเห็นว่า ไก่ชี จึงเป็น ไก่พันธุ์ดีที่ไม่ควรมองข้าม
การดำเนินการวิจัย รศ.ดร.มนต์ชัย เล่าว่า ไก่พื้นเมืองพันธุ์ชีได้รับพันธุ์เริ่มต้นจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นไก่พ่อพันธุ์จำนวน 30 ตัว และแม่พันธุ์จำนวน 150 ตัว แล้วดำเนินการผสมพันธุ์โดยวิธีผสมเทียมใช้ไก่พ่อพันธุ์ 1 ตัวผสมแม่พันธุ์ 5 ตัว ทำการผสมพันธุ์ทุกสัปดาห์ และเก็บไข่เข้าฟักทุกสัปดาห์ หลังจากลูกไก่ฟักออกเป็นตัวนำเข้ากกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ให้อาหารลูกไก่ไข่ มีอาหารและน้ำให้กินตลอดเวลา ไก่อายุ 1 สัปดาห์ให้วัคซีนนิวคาสเซิลและหลอดลมอักเสบ และให้วัคซีนในทุก ๆ สัปดาห์ตามโปรแกรม สำหรับผลการศึกษา ในช่วงปีที่ 1-3 สามารถผลิตไข่เข้าฟัก ได้ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ฟองต่อปี ผลิตลูกไก่เข้าทดสอบได้ 2,100-2,700 ตัวต่อปี ได้ พ่อพันธุ์ที่มีลักษณะดีและดัชนีพันธุกรรม สูงสุด จำนวน 30 ตัวต่อปี ด้านการนำเนื้อไก่ไปแปรรูปเพื่อบริโภค มีรสชาติอร่อย นุ่ม เพราะเป็นลูกผสมของไก่พื้นเมือง.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์