โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำหรือในภาษาอีสานเรียกว่า โรคหมาว้อ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักมากว่า 500 ปีแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการกัด หรือ ข่วน จาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู เป็นต้น เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเรบีส์ (Rabies) ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาหายแต่สามารถป้องกันได้ ผู้ป่วยมักคงสภาพอยู่ได้นานไม่เกิน 1 สัปดาห์และเสียชีวิต เนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อและ ระบบทางเดินหายใจ กรมปศุสัตว์ออกมาตรการเข้มเพื่อป้องกันอันตรายที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชน โดยเบื้องต้นให้ความรู้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัข-แมวให้เลี้ยงสัตว์ของตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากปัจจุบันยังคงพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย โดยในปี 2553 (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553-2 เมษายน 2553) พบผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 10 ราย นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เตือนประชาชนให้ระวังโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งประเทศไทยยังคงพบโรคนี้ โดยเฉพาะในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 10 ราย โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลือดอุ่นและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว แพะ ช้าง ม้า สุนัข รวมทั้งคน แต่พบมากที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุนัข และแมวจรจัดที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการติดโรคส่วนใหญ่เนื่องจากถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน หรืออาจได้รับเชื้อทางน้ำลายเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกได้ สำหรับสถิติเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่น่าสนใจ คือในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 55,000 รายทั่วโลก ซึ่ง 95% หรือประมาณ 52,250 ราย เกิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา และประมาณ 30-60% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 10-20 ราย จากเดิมที่เคยมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 300 ราย ด้วยวัคซีนที่ถูกพัฒนาใช้ฉีดในคนมีคุณภาพดี ปลอดภัย ราคาไม่แพง และฉีดเพียง 5 เข็ม ทำให้คนเสียชีวิตลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนละความสนใจและไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อโรคนี้สักเท่าใด ในปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษาที่ได้ผล ผู้ที่เป็นโรคนี้มักเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้เลี้ยงที่คลุกคลีกับสุนัข-แมว ซึ่งการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทำได้ 2 ทาง คือ การป้องกันที่สัตว์เลี้ยง และป้องกันที่ตัวเรา การป้องกันที่สัตว์เลี้ยงวิธีที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในลูกสัตว์เริ่มฉีดเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุ 3 เดือน จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ การปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเพ่นพ่านนอกบ้าน อาจจะทำให้ ได้รับเชื้อจากสุนัข-แมวจรจัดได้ ดังนั้น ผู้ ที่คิดจะเลี้ยงสุนัข-แมว จะต้องคิดอยู่เสมอ ว่าจะต้องรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ตลอดชีวิต ไม่ทิ้งสัตว์ เมื่อมันมีขนาดที่ใหญ่โต ขึ้น เจ็บป่วย หรือเริ่มไม่น่ารัก ผู้เลี้ยงควรดูแลด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพื่อไม่เป็นภาระแก่สังคม และลดปัญหาการเกิดสุนัข-แมวจรจัด การป้องกันตัวเรา วิธีการที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเมื่อพบสุนัข-แมวที่ไม่ทราบประวัติว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนหรือไม่ แต่หากถูกสุนัข-แมวดังกล่าวกัดหรือสัมผัสน้ำลายทางบาดแผล ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลาย ๆ ครั้งทันที ถ้ามีเลือดออกควรให้ไหลออกมาเพราะเลือดจะพาเอาเชื้อออกมาด้วย ใส่ยาทาแผลเช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ แล้วรีบไปพบแพทย์ พร้อมข้อมูลตัวสัตว์เพื่อเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ควรกักสัตว์ไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน ถ้าสัตว์แสดงอาการผิดปกติจากเดิม เช่น ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที โดย นำสุนัข-แมวดังกล่าวส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้า ต่อไป
ในปี 2553 กรมปศุสัตว์จัดทำโครงการควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี โดยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมันให้สัตว์เลี้ยงฟรี และประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการควบคุม ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังดำเนินการจัดกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขโลก ในวันที่ 28 กันยายนของทุกปี และเป้าหมายต่อไป คือ กำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไร เพื่อดำเนินการให้ประเทศไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี ค.ศ. 2020 หรือในปี พ.ศ. 2563 ตามที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนด อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ต้นเหตุ คือ การเลี้ยงสัตว์ด้วยความเอาใจใส่ ไม่ทิ้งสัตว์ให้เป็นสัตว์จรจัด และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถป้องกันโรคได้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์