"นกกะรางคอดำ" จัดเป็นนกที่ส่งเสียงได้ไพเราะและมีลีลาร่ายรำตามจังหวะการร้องที่สวยงาม นกตัวผู้จะร้องได้ยาวและไพเราะกว่าตัวเมีย จัดเป็นนกที่ชอบความสะอาด จะอาบน้ำในช่วง ที่มีอากาศร้อน โดยเฉพาะช่วงบ่ายจะ บินลงไปอาบน้ำบริเวณที่ตื้น ๆ โดยใช้ส่วนหัวจุ่มลงไปในน้ำ กระพือปีกเพื่อสลัดน้ำให้เปียกในส่วนของคอ ปีก ลำตัว และส่วนหาง ในธรรมชาตินกกะรางคอดำชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 2-5 ตัว พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบ เขา ป่าไผ่ ป่าโปร่ง ในลำธารที่มีน้ำตลอดทั้งปี ปัจจุบันนกกะรางคอดำ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เริ่มจะหายาก จากที่เป็นนกที่มีสีสันสวยงามและส่งเสียงร้องได้ไพเราะหลายเสียง จึงเป็นที่ชื่นชอบของบางคนที่แอบไปดักในป่าเพื่อนำมาเลี้ยงในกรง ทั้งที่รู้ว่านกป่าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในเมืองได้ ยิ่งไปกว่านั้นสภาพแวดล้อมในธรรมชาติถูกทำลายไปมากมาย ทำให้สถานที่วางไข่ ที่พักอาศัยและอาหารของนกกะรางคอดำเริ่มหมดไปและอาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ผศ.สุชาติ โชคคณาพิทักษ์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.น่าน ได้ประสบผลสำเร็จในเรื่องการเพาะขยายพันธุ์นกกะรางคอดำและมีความพร้อมที่จะเผยแพร่วิชาการ ไปสู่เกษตรกรที่สนใจจะเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพ อ.สุชาติ อธิบายถึงวิธีการขยายพันธุ์นกกะรางคอดำว่าควรจะจับคู่กันในเดือนธันวาคม สร้างกรงผสมพันธุ์ขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 3 เมตร และสูง 1.80 เซนติเมตร คัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์นำมาเลี้ยงในกรงเพื่อปรับสภาพและให้เกิดความเชื่อง สังเกตว่าเมื่อปล่อยเข้ากรงผสมพันธุ์แล้ว หากพบว่านกจิกตีกันแสดงว่าเข้าคู่กันไม่ได้ควรแยกออกและหาคู่ใหม่ที่เข้ากันได้มาปล่อยในกรง วิธีการสังเกตนกที่เข้าคู่กันได้มักจะอยู่ใกล้กันตลอดเวลา ชอบไซ้ขนที่หน้าคอ หลังและลำตัวให้แก่กัน กลางคืนจะนอนด้วยกัน นกพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีความพร้อมจะผสมพันธุ์กันบ่อยครั้งโดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น
หลังจากที่แม่นกวางไข่ พ่อและแม่จะช่วยกันฟักไข่ทั้งกลางวันและกลางคืน จนครบ 2 อาทิตย์ ไข่จะฟักออกเป็น ลูกนก พ่อและแม่จะคาบเปลือกไข่ออกทิ้งทันทีเพื่อรักษาความสะอาดและป้องกันศัตรูได้กลิ่นคาว ลูกนก จะมีขนงอกที่สมบูรณ์ เมื่อ มีอายุได้ 10-12 วัน ในธรรมชาติของนกกะรางคอดำจะผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ได้เพียงปีละ 2 ครอก แต่ถ้ามีการเพาะเลี้ยงที่ดีให้อาหารตามที่นกต้องการอย่างสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะขยายพันธุ์ได้ถึง 7 ครอกต่อปีเลยทีเดียว เกษตรกร และผู้สนใจที่คิดจะรวมกลุ่มผู้เลี้ยงนกกะรางคอดำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อให้จัดฝึกอบรมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.น่าน โทร. 0-5471-0259
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์