ด้วยความนิยมในการบริโภคเนื้อปลาของคนไทยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปลาน้ำจืดที่มีการเลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติประสบปัญหาโรคระบาดเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพแหล่งน้ำเสื่อมโทรมและมีการปนเปื้อนจากสารปราบศัตรูพืช เช่น ปลานิลและปลาทับทิม เป็นต้น ดังนั้นการเลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศในบ่อดินจึงได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดที่มีความทนทาน เลี้ยงง่าย ใช้น้ำน้อย สามารถเลี้ยงได้ทั้งบ่อดินขนาดต่าง ๆ ในกระชังในแหล่งน้ำนิ่งและยังเลี้ยงในบ่อพลาสติก รวมทั้งขนส่งง่ายโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน ในอดีตการเลี้ยงปลาหมอไทย ของเกษตรกรยังใช้ลูกพันธุ์ปลาที่ยังไม่แปลงเพศ ทำให้ได้ปลาเพศผู้ในปริมาณสูงถึง 40-50% เมื่อปลาเจริญเติบโตจับขายได้ใน ราคาเพียงกิโลกรัมละ 20-40 บาท เท่านั้น สาขาวิชาประมง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการ ในการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตลูกปลาหมอไทยแปลงเพศ (แปลงเป็นเพศเมียโดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน) เมื่อเกษตรกรนำลูกปลาหมอแปลงเพศไปเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ประสบความสำเร็จและมีกำไรมาก เนื่องจากปลาหมอเพศเมียจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าเพศผู้ถึง 3-4 เท่าและขายได้ราคาสูงกว่า ผลสำเร็จจากการผลิตลูกปลาหมอไทยแปลงเพศ ทำให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ จ.สกลนคร และกาฬสินธุ์ ขยายพื้นที่เลี้ยงกันเป็นจำนวนมากแต่ก็ยังพบว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ในการเลือกสถานที่เลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศนั้น ลักษณะของดินควรเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย น้ำไม่รั่วซึมและสามารถเก็บกักน้ำได้ 4-6 เดือน พื้นที่เลี้ยงควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติหรืออยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ในการเตรียมบ่อก่อนที่จะปล่อยลูกพันธุ์ปลาควรจะกำจัดวัชพืชรอบบ่อและกำจัดศัตรูของลูกปลา ใช้มุ้งอวนไนลอนสีฟ้ากั้นรอบบ่อ หว่านปูนขาวขณะดินชื้นในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ กรองน้ำเข้าบ่อเลี้ยง มีการทำสีน้ำโดยใส่ปุ๋ยมูลไก่อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อเพิ่มอาหารธรรมชาติซึ่งควรเติมหัวเชื้อโรติเฟอร์และไรแดงลงในบ่อก่อนที่จะปล่อยลูกปลา 3 วัน ตรวจสอบค่า pH น้ำให้เฉลี่ยอยู่ที่ 7.5-8.5 (มีสภาพเป็นด่าง) และควรมีการถ่ายเทน้ำทุก 7-10 วัน ปลาหมอไทยแปลงเพศเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยง 3 เดือน จะได้ปลาที่มีขนาดน้ำหนัก 100-150 กรัม สามารถเลี้ยงได้หนาแน่นในพื้นที่จำกัด (20-25 ตัวต่อตารางเมตร) จะให้ผลผลิตสูงถึง 3-4 ตันต่อไร่ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าปลาหมอไทยให้โปรตีนมากกว่าเนื้อไก่และเนื้อหมูเกือบเท่าตัว อีกทั้งมีไขมันต่ำกว่า 30 เท่า กรดไขมันที่ได้จากเนื้อปลาเป็นกรดที่ไม่อิ่มตัว และเนื้อปลาหมอไทยนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิดไม่แพ้ปลาน้ำจืดชนิดอื่น.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์