ปัจจุบันมีการใช้ไรน้ำนางฟ้าเป็นอาหารคุณภาพสูงสำหรับเร่งสีในการผลิตปลาหมอสีครอสบรีดเพื่อการส่งออกและยังมีการทดลองใช้ไรน้ำนางฟ้าสิรินธรเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม พบว่ากุ้งก้ามกรามอายุ 6 เดือนที่ได้รับไรน้ำนางฟ้าสิรินธรเป็นอาหาร 100% เป็นเวลา 2 เดือน มีการเจริญเติบโตและอัตรารอดสูงที่สุด ทำให้ในขณะนี้ได้มีการพัฒนาใช้ประโยชน์จากไรน้ำนางฟ้าเพื่อใช้ทดแทนอาร์ทีเมียและไรน้ำชนิดอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย สาขาวิชาประมง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานร่วมกับ สาขาวิชาชีววิทยาคณะ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร และ ศ.ดร.ละออศรี เสนาะเมือง เป็นผู้ทำการวิจัยและพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมและการจัดการการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น, สกลนคร, มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยและไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ซึ่งจัดเป็นไรน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่พบในประเทศไทย
การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยในบ่อดินที่ระดับความหนาแน่น 1 ล้านตัวต่อไร่และในกระชังที่ระดับความหนาแน่น 2,500 ตัวต่อตาราง เมตร สำหรับการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าสิรินธรในบ่อดินจะใช้ความหนาแน่น 2 ล้านตัวต่อไร่และในกระชังที่ระดับความหนาแน่น 5,000 ตัวต่อตารางเมตร พบว่าสามารถพัฒนาการเลี้ยงไรน้ำทั้ง 2 ชนิดได้ในทุกจังหวัดที่ได้กล่าวมา โดยการเลี้ยง ในบ่อดินจะให้ผลผลิตรวมสูงกว่าการเลี้ยง ในกระชัง แต่การเลี้ยงในกระชังพบข้อดีตรงที่การจัดการและเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้ง่ายกว่าในบ่อดิน ปัจจุบันได้มีตัวอย่างเกษตรกรที่มีการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าสิรินธรในบ่อดินร่วม กับการอนุบาลลูกปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ หลายชนิด พบว่าลูกปลาที่อนุบาลในบ่อดินร่วมกับไรน้ำนางฟ้านั้นลูกปลามีการเจริญเติบโตดีและอัตรารอดตายสูงมาก อีกทั้งสามารถลดการใช้อาหารสำเร็จรูปในการอนุบาลลูกปลาได้มากกว่า 50% ส่วนวิธีการเลี้ยงไรน้ำในบ่อดินพบว่าการใช้มูลไก่ในอัตรา 70 กิโลกรัมร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ในอัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อสัปดาห์ จะได้ผลผลิตไรน้ำนางฟ้าสิรินธรสูงที่สุดคือเฉลี่ย 50-80 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ถ้าในบางช่วงเวลาที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพงสามารถใช้ปุ๋ยมูลไก่เพียงอย่างเดียวได้ นอกจากนั้นยังพบว่าไรน้ำนางฟ้าสิรินธรจะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปียกเว้นในช่วงที่มีอากาศหนาวจัด โดยการเลี้ยงในช่วงฤดูร้อนไรน้ำนางฟ้าสิรินธรจะมีการเจริญเติบโตดีกว่าฤดูฝนและฤดูหนาวตามลำดับ.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์