นกอีเสือสีน้ำตาลช่วงที่ยังไม่โตเต็มวัย.
ช่วงนี้เริ่มงวดเข้าสู่ฤดูฝนเข้าไปทุกขณะ หลายพื้นที่ "น้ำจากฟ้า" เริ่มตกลงมาประปรายสร้างความชุ่มฉ่ำให้กับทุ่งหญ้า ป่าเขา ส่งผลให้กลุ่ม "รักษ์ธรรม ชาติ" โดยเฉพาะนัก "ส่องนก" เริ่มเสาะหาพื้นที่ปักหลักกางเต็นท์กันแล้ว และ...นางสาวปัญจพร ศรีบุญช่วย ทีมงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้แนะนำ "นกอีเสือสีน้ำตาล" ที่นอกจากจะมีนิสัย ฉีกทึ้งอาหารคล้ายเสือ ยังชอบเก็บไว้กินมื้อถัดไป ผ่านมายังทีมงาน "หลายชีวิต" ให้หลายๆคนรู้จักไปพร้อมกัน
อีเสือสีน้ำตาล (Brown shrike) เป็นนกเมืองหนาวอพยพย้ายถิ่นอาศัยเข้ามาหากินในประเทศไทย พบได้บ่อยในช่วงปลายฤดูร้อนและปลายฤดูฝน ทั่วประเทศมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ นกอีเสือลายเสือ นกอีเสือหลังแดง นกอีเสือหลังเทา นกอีเสือสีน้ำตาล และนกอีเสือหัวดำ ซึ่งสองชนิดหลังนี้จะพบบ่อยตามทุ่งนา ป่าหญ้า นกอีเสือฯ มีนิสัยหวงถิ่นหากิน ส่งเสียงดัง "แจ้ก... แซ้ก...แจ้ก...แซ็ก" บินวนไปมาเพื่อไล่นกชนิดอื่นๆที่เข้ามาใกล้เขตหากิน ไม่เว้นแม้แต่นกล่าเหยื่ออย่างเหยี่ยว ชอบหากินตามลำพัง เกาะอยู่ตัวเดียวตามกิ่งไม้ รั้วบ้าน ทุ่งหญ้า ท้องนาโล่ง อย่างสงบนิ่งไม่ส่งเสียงหรือเคลื่อนไหว มีเฉพาะเพียงดวงตาที่คอยขยับเขยื้อนจับจ้องมองหาเหยื่อโชคร้ายที่ผ่านไปมา
...อย่างพวกแมลงปีกแข็ง ตั๊กแตน กบ เขียด จิ้งเหลน กิ้งก่า ลูกหนู รวมทั้งลูกนก พวกมันก็ไม่ละเว้น ถ้ามันได้เหยื่อจะใช้ปากงุ้ม เขี้ยวที่แหลมคมฉีกเนื้อของเหยื่อที่จับได้ออกเป็นชิ้นๆกิน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมพวกมันที่คล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเสือโคร่งหรือเสือดาว คือหลังจับเหยื่อได้แล้วด้วยเพราะว่ากรงเล็บมันไม่แข็งแรงพอจับเหยื่อฉีกกิน
ดังนั้นมันจึงต้องใช้ ประโยชน์จากต้นไม้ที่มีหนาม หรือแม้กระทั่งลวด หนามเพื่อเสียบเหยื่อให้ สามารถฉีกกินได้สะดวก จนกระทั่งอิ่ม นิสัยของนกอีเสือฯ ยังชอบ "เหลือเหยื่อไว้กินคราวต่อไป" พฤติกรรมนี้นอกจากง่ายต่อการ "เปิบ" ในมื้อนั้นแล้ว ยังอวดความสามารถในการล่า เพื่อดึงดูดตัวเมียด้วยเช่นกัน
รูปร่างลักษณะของนกอีเสือฯนั้น หัว โต คิ้ว เป็นเส้นสีน้ำตาลอ่อนออกขาว ปาก ใหญ่หนา ปลายปากแหลมงุ้มเป็นจะงอยสีน้ำตาลเข้มออกดำ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของมัน และที่แปลกกว่านกทั่วๆไปคือ พวกมันมี "ฟันแหลมๆหนึ่งซี่อยู่ที่ขอบปากบน" มี แถบสีดำตั้งแต่โคนปากไปถึงหู ดูคล้าย "หน้ากาก" ลำตัว เพรียว ขน คลุมลำตัวสีน้ำตาลแดง ปีก สีน้ำตาลเข้มที่ใต้คาง หน้าอกสีน้ำตาลปนขาว หาง ยาวสีตาลเข้มกว่าลำตัว ใต้หางบริเวณก้นสีน้ำตาลปนเทาอ่อน ขาสีดำ เล็บแข็งแรงแหลมคม ตัวผู้และตัวเมียสีจะคล้ายกัน
สำหรับช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม หลังจากจับคู่แล้ว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหากิ่งเหมาะบนต้นไม้ที่มีความสูง เพื่อทำรังวางไข่ ครั้งหนึ่งมีประมาณ 3-6 ฟอง ใช้เวลากก 15-16 วัน ลูกนกจึงออกมา ในวัยที่ยังเล็กทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน กระทั่งผ่านพ้น 2 สัปดาห์ เจ้าตัวเล็กจะเริ่มหัดบิน
เมื่อปีกกล้าขาแข็งดีแล้ว จึงออกจากอกแม่บินแล้วสู่โลกกว้างไปใช้ชีวิตเพียงลำพัง ในช่วงที่ยังไม่โตเต็มวัย แถบคาดที่เป็นหน้ากากจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดง บริเวณใต้คางถึงหน้าอกสีขาวนวล มีลายคล้ายเกล็ดปลาทั่วตัว โตเต็มวัยวัดจากหัวถึงปลายหางยาวประมาณ 20 ซม. อย่างไรก็ตาม แม้บรรดาเกษตรกรต่างยอมรับกันว่านกอีเสือฯเป็นนกที่มีส่วนช่วยลดประชากรของแมลงศัตรูพืชตามท้องไร่ท้องนาได้ดีเยี่ยม แต่ ปัจจุบันพบว่าประชากรของนกอีเสือฯเริ่มหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ ฉะนี้พวก มันจึงถูกจัดเป็นหนึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองด้วยเช่นกัน!!!!!
เพ็ญพิชญา เตียว
ที่มา : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน์