ปัจจุบัน ปลานิล เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับและนิยมบริโภคกันแพร่หลายทั่วโลก เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีผลผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นปลาที่มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามปลาที่เลี้ยงในแต่ละแห่งอาจจะยังไม่ได้คุณภาพหรือมีมาตรฐานเท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการพ่อแม่พันธุ์ ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ได้ให้ความสำคัญในการจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปลานิลตามหลักพันธุศาสตร์ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปลานิลให้ถูกต้อง จึงได้ดำเนินกิจกรรมตรวจรับรองมาตรฐานการจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปลานิลตามหลักพันธุศาสตร์ เพื่อให้ฟาร์มที่เข้าร่วมได้ผ่านมาตรฐาน และได้รับใบรับรอง เพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ปลานิลที่ผ่านการปรับปรุงแล้วให้คงคุณภาพทางพันธุกรรมที่ดีต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานฟาร์มปลานิลของไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นกระบวนการเพาะเลี้ยงและผลิตพันธุ์ปลานิลตามหลักเกณฑ์ที่ดีทางพันธุศาสตร์ พร้อมทั้งเพื่อให้มีการใช้ปลานิลพันธุ์ดีในการเพาะเลี้ยงเชิงการค้า ทำให้เกิดการขยายตัวของการเพาะเลี้ยงปลานิลเป็นไปอย่างกว้างขวางส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น
สำหรับหน่วยงานที่ได้ผ่านการตรวจประเมิน และผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวแล้ว ในสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำมีจำนวน 5 แห่งในเขตพื้นที่ 5 ภาค ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศูนย์วิจัย และทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำบุรีรัมย์ ภาคกลาง ที่ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำปทุมธานี ภาคตะวันตกที่ ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำเพชรบุรี และภาคใต้ที่ ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำชุมพร นับได้ว่าเป็นโอกาสดีที่กรมประมงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ปลานิลที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์แล้ว ให้คง คุณภาพทางพันธุกรรมที่ดี และเป็นการเพิ่มความเชื่อ มั่นในเรื่องของคุณภาพสินค้าปลานิล จากที่ได้ผ่านการตรวจรับรองตั้งแต่ต้นน้ำ คือตั้งแต่เรื่องของพันธุ์ แหล่งเพาะเลี้ยง และกระบวนการผลิตพันธุ์ นอกเหนือจากการตรวจรับรองอื่น ๆ ที่กรมประมงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน การตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มนี้ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้าปลานิล และเพิ่มขีดความสามารถของสินค้าปลานิลในการแข่งขันเพื่อการส่งออกและนำเงินตราเข้าประเทศ โดยภายในปี 2553 นี้ เป็นที่คาดกันว่าจะมีผู้ประกอบการฟาร์มปลานิลที่เข้าร่วมประเมิน จำนวน 35 ฟาร์ม ซึ่งทางศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำแต่ละพื้นที่จะได้เข้าตรวจประเมิน 70 ครั้ง ซึ่งน่าจะมีฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 19 ฟาร์ม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำนอกจากจะเป็นผู้ตรวจประเมินให้กับ ฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ยังจะทำหน้าที่เผยแพร่ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือผู้ที่สนใจทั่วไปอีกด้วย ผู้ประกอบการฟาร์มปลานิล หรือ ผู้ที่สนใจต้องการเข้าร่วมการประเมินการจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปลานิลตามหลักพันธุศาสตร์สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัย และทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำของแต่ละพื้นที่หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 0-2577-6544 หรือ 0-2904-7604, 0-2904-7805 ต่อ 14 และ 15 ในเวลาราชการ อีเมล : genetic. agrdi@gmail.com ๏
tidtangkaset@dailynews.co.th
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์