ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร มีผลงานด้านการศึกษาวิจัยเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรมากมายหลายรายการด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็มีการศึกษาชันโรงเพื่อนำมาเป็นตัวช่วยเกษตรกรในการผสมเกสรดอกไม้โดยเฉพาะไม้ผล เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หนึ่งในทีมงานที่ทำหน้าที่ศึกษาเรื่องนี้ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ชันโรงนั้น เป็นแมลงสังคมกลุ่มเดียวกับผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กไน ไม่ ดุร้าย มีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า แพร่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นแมลงที่ปรับตัวเก่ง ตามธรรมชาติอาศัยในรู โพรงต้นไม้ โพรงใต้ดิน รังของชันโรงใช้ทำประโยชน์ได้มากมาย และนอกจากการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งของชันโรงแล้วความสามารถเป็นเลิศตามธรรมชาติอีกประการก็คือการผสมเกสรดอกไม้ การเลี้ยงชันโรงเพื่อผสมเกสร ก่อประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง เพราะการติดผลของพืชผลหลายชนิดต้องอาศัยการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพของชันโรง ผลผลิตของพืชผลที่เพิ่มขึ้นคำนวณเป็นเม็ดเงินออกมาแล้วมีจำนวนมหาศาล การเลี้ยงก็ไม่ยาก สามารถนำมาเลี้ยงในกล่องขนาดเล็ก ใช้เนื้อที่ในการเพาะเลี้ยงน้อย และเคลื่อนย้ายกล่องไปตามสวนที่ต้องการใช้ชันโรงผสมเกสรได้สะดวก ปัจจุบันชาวสวนโดยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงชันโรงเพื่อการนี้ การเลือกชนิดของชันโรงที่จะนำมาเลี้ยง อันดับแรกจะต้องเลือกชนิดที่ปรับตัวและทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ไม่ดุร้ายมากและไม่รบกวน มีความกระตือรือร้น ขยายพันธุ์ได้ง่าย นางพญามีประสิทธิภาพในการวางไข่ได้ปริมาณมาก และทนต่อสภาพแวดล้อมเข้ากับที่อยู่ใหม่ได้ดี มีประสิทธิภาพทนต่อตัวเบียนศัตรูของชันโรงได้ดี สำหรับกล่องเลี้ยงนั้น ควรเป็นกล่องที่รักษาอุณหภูมิได้คงที่ และคงทนต่อสภาพแวดล้อมภูมิอากาศได้ การวางรังชันโรง นอกจากจะต้องสำรวจดูความเหมาะสม สถานที่ตั้งรัง บริเวณรอบ ๆ สถานที่ พืชอาหาร ความปลอดภัยจากสารเคมี ศัตรูชันโรง รวมทั้งสภาพลมและการจัดการ รัง แล้วก็ควรมีขาตั้งรังป้องกันมด โดยทาน้ำมันขี้โล้ที่ขาตั้ง หรือทำที่แขวน บริเวณที่ตั้งควรมีพืชอาหารเพียงพอ และสมดุลกันกับปริมาณของชันโรง วางรังชันโรงให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการหาอาหารและผสมเกสรควรตรวจสภาพรังอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูปริมาณการเจริญเติบโต สภาพความสมบูรณ์ของอาหารและศัตรูชันโรง ชันโรงมีความสำคัญในการผสมเกสรทั้งพืชปลูกและพืชป่าเป็นอย่างยิ่ง ด้วยคุณสมบัติพิเศษหลายประการนับเป็นแมลงผสมเกสรประจำถิ่นคือจะหากินหรือตอม ดอกไม้ในระยะไม่ไกลจากรังที่มันอาศัยอยู่ได้ดี คุณสมบัติข้อนี้นับเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่งเพราะสามารถใช้และควบคุมชันโรงให้ลงตอมดอกของพืชได้
ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรประจำถิ่นจึงใช้ผสมเกสรพืชพื้นเมือง หรือพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียได้ดี เช่น ทุเรียน เป็นต้น ชันโรงจะตอมดอกไม้ได้ทุกดอก แม้ว่าดอกนั้นจะเคยถูกแมลงผสมเกสรตัวอื่น ตอมมาแล้ว และทิ้งกลิ่นไว้ก็ตาม ในขณะที่ผึ้งรวงจะไม่ตอมดอกที่มีกลิ่นผึ้งชนิดอื่นหรือรังอื่นทิ้งไว้ และชันโรงมีอายุยืนกว่าผึ้งรวงมาก ทำให้มีโอกาสผสมเกสรได้นานกว่า.
Kasettuathai@dailynews.co.th
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์