กับผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้
ดินเปรี้ยว นับว่าเป็นดินที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ดินเปรี้ยวส่วนใหญ่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ทำให้ผลผลิตการเกษตรมีน้อย สำหรับ บ้านโคกอิฐ-โคกใน หมู่ที่ 2 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาเรื่องดินเปรี้ยว ทำให้ผลผลิตข้าวได้เพียง 15-20 ถังต่อไร่ ในปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวให้สามารถปลูกข้าวได้ดังเดิม โดยการนำผลสำเร็จจาก โครงการแกล้งดิน ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน เป็นแห่งแรกของการปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยว จำนวน 500 ไร่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรติดตามผลการดำเนินงานมาโดยตลอด และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ทรงกล่าวชื่นชมการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ มีใจความตอนหนึ่งว่า เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้น ๆ เขาทำได้แค่5-10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินจะไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วระบาย รู้สึกนับวันเขาจะดีขึ้น อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้ แล้วชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าวกิน เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้ ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด บ้านโคกอิฐ-โคกใน สานงานต่อ ทำให้เกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน ต่างปลื้มปีติเป็นล้นพ้น และมีกำลังใจที่จะ ฟื้นผืนดินให้ใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยว โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่นาร้างบ้านโคกอิฐ-โคกใน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกข้าวจำนวน 461.72 ไร่ ทำการขุดยกร่องทำการเกษตรผสมผสาน จำนวน 179.46 ไร่ ขุดยกร่องเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน 194.07 ไร่ รวมพื้นที่ที่เกษตรกรใช้ประโยชน์ทั้งหมด 835.25 ไร่ ในแต่ละปีงานพัฒนาที่ดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น คณะครู- นักเรียนในบริเวณใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรม กันอย่างมากมาย สร้างความคึกคักพร้อมที่ จะพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวแห่งนี้ให้เขียวขจีและเหลืองอร่ามไกลสุดสายตา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ติด ตามผลการดำเนินงานพื้นที่ปลูกข้าวบ้าน โคกอิฐ-โคกใน ทรงหว่านปุ๋ยลงในแปลงนาข้าวและทรงทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตข้าวซ้อมมือของสมาชิกกลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือบ้านโคกอิฐ-โคกใน และในโอกาสนี้ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายธนน เวชกรการนนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมพื้น ที่ทำการเกษตรของบ้านโคกอิฐ-โคกใน และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากในฤดูฝน น้ำในพื้นที่ป่าพรุไหลทะลักเข้าท่วมที่ทำการเกษตรกร การแก้ไขโดยเร่งด่วนให้ขุดร่องน้ำออกจากพื้นที่ พรุก่อนฤดูฝน ให้มีการทำคันดินกั้นนารอบพื้นที่พรุ ให้จัดช่องทางระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุได้สำเร็จและสะดวก สำหรับโรงผลิตข้าวซ้อมมือบ้านโคกอิฐ-โคกใน ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 โดยมีสมาชิกผู้ปลูกข้าวในโครงการจำนวน 20 คน เริ่มแรกสมาชิกในโครงการร่วมแรงกันจัดทำโรงเรือน ซึ่งมี นายกลม เทพพรหม นายประสิทธิ์ อิทรภาพ และ นายนุ้ย คงประเสริฐ เป็นผู้จัดทำครกสีข้าว และครกกระเดื่อง จนสามารถผลิตข้าวซ้อมมือส่งจำหน่ายได้ สมาชิกกลุ่มได้รับซื้อข้าวเปลือกพันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองของอำเภอตากใบ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เมื่อนำไปกะเทาะเปลือกออกจะได้เมล็ดข้าวสีแดงเลือดหมู และเมื่อหุงสุก ข้าวจะนิ่มมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มีข้าวชนิดใดเหมือน เป็นการนำภูมิปัญญาไทยในการสีข้าวด้วยครกโบราณ ตำข้าวด้วยครกกระเดื่องมาใช้ให้เกิดประโยชน์
นายปรีชา โพธิ์ปาน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้อนุมัติงบประมาณเงิน อุดหนุนโครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร จำนวน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงเรือนและมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวซ้อมมือ อีกทั้ง นางกุ้ง ขวัญคง ได้บริจาคที่ดินเพื่อจัดสร้างโรงเรือน ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร ต่อมาปี 2547 วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดนราธิวาส โดยนายวารินทร์ บุษบรรณ ซึ่งเป็นประธานวุฒิอาสาฯ มอบงบประมาณโครงการเพิ่มผลผลิตเกษตร ข้าวซ้อมมือและน้ำบูดู ต่อยอด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โดยสนับสนุนพัฒนาการบรรจุภัณฑ์ และซื้อวัสดุอุปกรณ์ เป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบในการผลิตข้าวซ้อมมือ และสมาชิก กลุ่มปลูกข้าวหอมกระดังงา 20 ราย จำนวน 30 ไร่ ปลูกในพื้นที่โครงการ 10.5 ไร่ และปลูกนอกพื้นที่โครงการ 19.5 ไร่ กลุ่มได้ซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกสลับกันไปปี๊บละ 190 บาท มาทำเป็นข้าวซ้อมมือขายได้เป็นเงินปี๊บละ 32 บาท ทำให้มูลค่าของผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว ในปัจจุบัน สามารถผลิตข้าวซ้อมมือได้ประมาณ 400 กิโลกรัมต่อเดือน (ราคาขายข้าวหอมกระดังงากิโลกรัมละ 40 บาท และข้าวสังข์หยด กิโลกรัมละ 50 บาท) คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 16,000-20,000 บาทต่อเดือน โดยได้จัดสรรรายได้ให้แก่สมาชิกร้อยละ 80 และนำเข้ากลุ่มร้อยละ 20 ของผลกำไรทั้งหมด รวมทั้งสถานที่จัดจำหน่ายผลผลิตได้แก่ ที่ทำการกลุ่ม ร้านค้าในอำเภอและต่างอำเภอ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และภายงานเทศกาลในต่างจังหวัด ซึ่งมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน คือ สำนักงานเกษตรอำเภอตากใบ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอตากใบ และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตากใบ จากผลการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ชาวบ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ ได้รับการพัฒนาด้านความเป็นอยู่มีชีวิตที่ดีขึ้น และตลอดระยะเวลาการทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในภาคใต้ โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นศูนย์กลางแห่งการทดลอง ศึกษา วิจัยของพระองค์ ถือเป็นบทพิสูจน์การพัฒนาชนบทที่ยิ่งใหญ่ให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง.
นรินทร์ เทพพิรุณ
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์