เนื่องจากข้าวมีราคาอยู่ในเกณฑ์ สูง ประกอบกับรัฐบาลได้จัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำนาปรังมากขึ้นในช่วงเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/53 นี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า จะมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประมาณ 9.50 ล้านไร่ แยกเป็น ในเขตชลประทาน 7.50 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่ ซึ่งหลายพื้นที่ได้เกิด ปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะ การข้าวปลูกหนึ่งรอบการผลิตต้องใช้น้ำปริมาณมากทำให้น้ำไม่พอเพียงกับความต้องการ เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตา...กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งรณรงค์ให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 และให้ปลูกพืชไร่-ผักที่มีช่องทางการตลาดดีทดแทน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 1 แล้ว เกษตรกรควรพักดินและงดทำนาปรังรอบ 2 และควรปลูกพืชชนิดอื่นที่มีลู่ทางการตลาดดีทดแทนข้าวนาปรัง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง ซึ่งมีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากเป็นพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยที่สามารถช่วยประหยัดน้ำ และลดปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังช่วยตัดวงจรปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวได้อีกทางหนึ่งด้วย เกษตรกรควรจัดระบบการปลูกพืชในนาข้าวใหม่ โดยปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับการทำนาปี-นาปรัง เช่น ปลูกถั่วเหลืองหลังนา สามารถที่จะช่วยปรับโครงสร้างดินให้สมบูรณ์ขึ้น ได้ ถ้าไถกลบต้นถั่วเหลืองลงดินจะมีปริมาณธาตุไนโตรเจนที่ได้จากการสลายตัวของถั่วเหลือง 7 กก.ไนโตรเจน/ไร่ คิดเป็นปริมาณไนโตรเจนในปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 15 กก./ไร่ หรือไนโตรเจนในปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท (21- 0-0) 34 กก./ไร่ เมื่อกลับไปปลูกข้าว เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกเลย คาดว่าจะสามารถ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวทั้งประเทศ ได้ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตถั่วเหลือง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตข้าว คิดเป็นมูลค่า รวมกว่า 12,032 ล้านบาท นอก จากถั่วเหลืองแล้ว อาจปลูกถั่วเขียวหรือถั่วลิสง ซึ่งเกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกัน และ ที่สำคัญ ยังได้ปรับปรุงโครงสร้างดินในแปลงนาไปในตัวด้วย นายเทวา เมาลานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดู แล้ง เกษตรกรควรคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระบบการผลิต หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอเกษตรกรไม่ควรทำนาปรังแต่ควรปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อยแทน โดยเลือกปลูกพืชไร่ที่มีราคา ดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และถั่วเขียว ซึ่งจะใช้น้ำประมาณ 400-600 ลบ.ม./ ไร่/รอบการผลิต ทั้งยังต้องมองถึงช่องทางตลาดด้วยว่า พืชชนิดใดที่ตลาดมีความต้องการมากเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน
ขณะเดียวกันยังต้องเลือกใช้เมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ดีที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูงและเหมาะกับสภาพพื้นที่ อาทิ ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 เชียงใหม่ 2 เชียงใหม่ 5 นครสวรรค์ 1 พันธุ์ขอนแก่น ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 กำแพงแสน 1 กำแพงแสน 2 และพันธุ์ชัยนาท 36 ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 ขอนแก่น 5 พันธุ์กาฬสินธุ์ 1 และกาฬสินธุ์ 2 เป็นต้น การให้น้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก ในช่วงอุณหภูมิสูงไม่ควรให้ขาดน้ำจนพืชเหี่ยวเฉา เพื่อให้การปลูกถั่วเหลือง และถั่วเขียวได้ผลผลิตดีควรให้ น้ำทุก 10-14 วัน พยายามอย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะระยะที่พืชออกดอกติดฝักไม่ควรให้ขาดน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดฝัก ส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลงและเสียหายได้ ส่วนถั่วลิสงควรให้น้ำเมื่อความชื้นในดินลดลง หรือสังเกตต้นถั่วเมื่อใบเริ่มเหี่ยวในตอนกลางวัน การให้น้ำควรมีช่วงห่างระยะ 10-15 วัน ต่อครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแนวทางช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตพืชฤดูแล้งหลังนาได้.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์