"ปลาทู เป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึกไม่เกิน 80 เมตร ในน่านน้ำไทยพบได้ทั้งหมด 3 ชนิด คือ 1. ชนิดตัวสั้น หรือ ปลาทู ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคมากที่สุด 2. ปลาลัง หรือ ปลาทูโม่ง และ 3. ปลาทูปากจิ้งจก ซึ่งปัจจุบันนี้พบค่อนข้างน้อย ปลาทู นับเป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาหารทะเลหลักของคนไทยมาช้านาน ในอดีตเชื่อว่าปลาทูที่จับได้ในทะเลอ่าวไทยมาจากเกาะไหหลำ แต่ปัจจุบันพบว่าปลาทูเกิดในอ่าวไทยเป็นปลาผิวน้ำ รวมกันเป็นฝูงบริเวณใกล้ฝั่ง พบเฉพาะบริเวณอุณหภูมิผิวน้ำไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน 32.5% แต่ทนความเค็มต่ำได้ถึง 20.4% จึงพบในบริเวณน้ำกร่อยได้ ปลาทูจะวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ ช่วงที่วางไข่คือ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากความนิยมในการ บริโภค ทำให้ปลาทูถูกจับขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จำนวนมาก โดยมีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้จับอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันจากการทำการประมงเพื่อการบริโภคภายในประเทศก็ขยายเป็นการประมงเพื่อการส่งออกในหลายรูปแบบนับตั้งแต่การส่งออกปลาสดไปจนถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูป จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยเริ่มลดจำนวนลง
ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งปริมาณปลาทูในทะเลไทยให้มีไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงมีมาตรการภายใต้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำ การประมงบางชนิดในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2550 ซึ่งกรมประมงใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและบริหารจัดการการทำประมงในบริเวณพื้นที่ ดังกล่าว จากการดำเนินงานในมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโดยครอบคลุมพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 26,400 ตารางกิโลเมตรนั้น พบว่าทรัพยากร สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาผิวน้ำได้แก่ ปลาทู ปลาลัง ปลาข้างเหลือง ปลาแซ็กหร้า ปลากะตัก ปลาหน้าดิน ได้แก่ ปลาตาหวาน ปลาทรายแดง ปลาปากคม ได้รับการฟื้นฟู มีการผสมพันธุ์วางไข่ และเลี้ยงลูก ทำให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนทรัพยากรสัตว์ น้ำที่ถูกจับไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องและ สม่ำเสมอ จนสามารถรักษาระดับผลผลิตปลาทูทุกพื้นที่ในอ่าวไทยให้ยั่งยืนที่ระดับเฉลี่ย 100,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ส่วนพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีผลผลิต 60,000 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาทต่อปี อัตราการจับสัตว์น้ำของเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามทำการประมง เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการใช้มาตรการ พบว่าอัตราการจับของเครื่องมือทุกประเภทมีค่าสูงขึ้นหลังจากการประกาศใช้มาตรการนี้ จากการศึกษาปริมาณการจับปลาทูจากเครื่องมือประมง อวนลอยปลาทู อวนล้อมจับ อวนลากเดี่ยวและอวนลากคู่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลางโดยวิธีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในปี 2551 เครื่องมือประมงกลุ่มอวนล้อมจับประมาณ 44,177 ตัน อวนลอยปลาทูประมาณ 23,617 ตัน อวนลากเดี่ยวประมาณ 1.44 ตัน อวนลากคู่ประมาณ 728 ตัน รวมทั้งปีมีปริมาณปลาทูถูกจับมาใช้ประโยชน์ประมาณ 68,524 ตัน และในปี 2552 เครื่องมือประมงกลุ่มอวนล้อมจับประมาณ 48,347 ตัน อวนลอยปลาทูประมาณ 14,630 ตัน อวนลากเดี่ยวประมาณ 2.75 ตัน อวนลากคู่ประมาณ 432 ตัน รวมทั้งปีมีปริมาณปลาทูถูกจับมาใช้ประโยชน์ประมาณ 63,412 ตัน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นการพิสูจน์ได้ว่ามาตรการห้ามการจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูปลา มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและสุราษฎร์ธานี ของกรมประมงนั้น เป็นการดำเนินงานเพื่อการคงไว้ซึ่งทรัพยากรสัตว์น้ำสำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ของผู้คนในสังคมให้มีอยู่อย่างยั่งยืนและยาวนานนั่นเอง ดร.สมหญิง กล่าว.
tidtangkaset@dailynews.co.th
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์