พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรพื้นที่ภาคเหนือ ประสบปัญหามลพิษหมอกควันและภัยแล้ง ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน เริ่มดำเนินการทำฝนหลวงแล้ว... นายสมชัย เรืองสุทธินฤภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งปัญหามลพิษหมอกควันและภัยแล้ง ทรงรับสั่งกับกองงานส่วนพระองค์ ให้ติดตามงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ปีนี้มีความชื้นน้อย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญการทำฝนหลวง ในระยะแรกจะแก้ปัญหามลภาวะของจังหวัดเชียงราย และพะเยาก่อน หลังจากนั้นจะย้ายไปดำเนินการทางตอนล่างของภาคเหนือ
นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควมคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า มีปริมาณฝุ่นสูงถึง 278.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพประชาชน และจากการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง พบจำนวนจุความร้อนสะสมสูงสุด 616 จุด ที่เชียงใหม่ รองลงมาคือ น่าน และลำปาง
สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ได้จัดส่งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เข้าไปตรวจวัดคุณภาพอากาศในพม่าและลาว พร้อมแจ้งที่ประชุมคณะทำงานอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงให้สมาชิก ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เฝ้าระวังและควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างเคร่งครัดตลอดหน้าแล้งนี้
ด้านนายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ได้เชิญผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือถึงวาระเร่งด่วน และรับทราบพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์ทรงห่วงปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการขาดแคลนอาหาร ซึ่งตนเองได้เข้าร่วมหารือด้วย พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด เข้าไปตรวจสอบจำนวนพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งด้านปศุสัตว์และประมงในทุกจังหวัด โดยเบื้องต้นให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ทันที ทั้งนี้จะจัดประชุมในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ซึ่งจะดำเนินมาตรการช่วยเหลือตามแผนงานของกระทรวงและรัฐบาลต่อไป
ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดโครงการก่อสร้างฝายกั้นน้ำเฉลิมพระเกียรติ แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นให้สร้างฝายกั้นน้ำแบบง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารเป็นแรงงานหลักในการก่อสร้าง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเจ้าหน้าที่ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำการก่อสร้างฝายขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว จำนวน 30 ฝาย จากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 282 ฝาย
ด้านนายบุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยภัยแล้งและขาดแคลนน้ำอย่างเร่งด่วน กรมชลประทานได้เตรียมแผนช่วยเหลือไว้ 39 จังหวัด ขณะนี้จัดส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทานในภาคเหนือรวม 15 จังหวัด จำนวน 231 เครื่อง ภาคอีสาน 10 จังหวัด จำนวน 215 เครื่อง ภาคกลาง 11 จังหวัด จำนวน 116 เครื่อง และภาคใต้ 3 จำนวน 33 เครื่อง รวม 39 จังหวัด 595 เครื่อง สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถไปร้องขอได้ที่ อบต. อบจ. นายอำเภอ ชลประทานจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ได้ทั้งหมดกว่า 30 หน่วยงาน
ขณะที่นายวันชัย สุทธิวรชัย ผวจ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ภูเขียว อ.บ้านแท่น อ.บ้านเขว้า และ อ.เมืองชัยภูมิ บางส่วน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณกว่า 2 พันครัวเรือน จำนวนกว่า 9 พันคน ส่วนใหญ่เป็นการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำการเกษตรบางส่วน โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกข้าวนาปรัง บางส่วนต้นข้าวเริ่มยืนต้นแห้งตายแล้วกว่า 2 พันไร่ สำหรับการช่วยเหลือ ได้มอบหมายให้ทางอำเภอต่างๆ เบิกจ่ายเงินช่วยผู้ประสบภัยแล้งอำเภอละ 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินนั้นได้เร่งให้ทำเรื่องมาเบิกเงินกับทางจังหวัด เพื่อขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลเข้าพื้นที่การเกษตรได้มากขึ้น
ทางด้านนายวันชัย สุทิน ผวจ.กำแพงเพชร กล่าวว่า จังหวัดได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยสั่งการให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง พร้อมจัดน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ครัวเรือนในทุกอำเภอ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรได้ประสานไปยังโครงการชลประทานจังหวัดและทุกหน่วยงานของชลประทานที่อยู่ในทุกพื้นที่ให้จัดสรรน้ำแก่เกษตรกรให้เพียงพอ และประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง นอกจากเตรียมการเรื่องของการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการเกิดไฟป่าโดยให้หมั่นตรวจสอบบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าเพื่อทันต่อการปฏิบัติหน้าที่
ที่มา และ ภาพประกอบ : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน