16 มีนาคม 2553 เป็นวันสถาปนากรมการข้าว ครบรอบ 4 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมการข้าวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์พันธุ์และคุ้มครองพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนา ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าข้าว การส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของกรมการข้าวว่า กรมการข้าว มีเป้าหมายในการผลิตข้าวเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก บุคลากรภายในกรมฯ จะต้องมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นการดำเนินแนวทางตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเผยแพร่แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้การผลิตข้าวเป็นระบบที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมากรมการข้าวได้ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภาคต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 78 โครงการ ในส่วนของงานวิจัย มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และรับรองพันธุ์ไปแล้วเช่น กข 12 กข 29 กข 31 กข 33 กข 35 พิษณุโลก 80 สังข์หยดพัทลุง เจ๊กเชย 1 กข 41 กข 43 และข้าวเจ้าพันธุ์ขาวกอเดียว 35 เป็นต้น นอกจากนี้กรมการข้าวสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ชั้นพันธุ์ขยายและจำหน่าย ประกอบด้วยข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิรวมกว่า 3 แสนตัน นอกจากนี้ ยังดำเนินงานโครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี ได้จัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 877 ศูนย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่ชาวนาอย่างทั่วถึง และฝึกอบรมชาวนารุ่นใหม่ รวม 4 รุ่น รวม 289 คน โดยคัดเลือกชาวนารุ่นใหม่จากลูกหลานชาวนา เพื่อสร้างชาวนารุ่นใหม่ที่มีศักยภาพการผลิตข้าว และสืบทอดการทำนาในอนาคต พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำโครงการปลูกข้าวปลูกใจ เด็กไทยรักข้าว โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 3,000 คน ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้รับความรู้และได้ทดลองปฏิบัติจริงด้านการทำนา
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวย่างต่อไปในปีที่ 5 ของกรมการข้าว ภารกิจเร่งด่วนที่กรมฯ จะต้องดำเนินการคือ การยุติการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เนื่องจากปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่กลับมาระบาดในรอบ 10 ปี หลังจากที่เคยระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2543 ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวของชาวนาไป จำนวนไม่น้อย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมการข้าวร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพาหะนำโรค ดังนั้น จึงขอเชิญชวนชาวนาที่กำลังประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายนาข้าวอยู่ เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงเกษตรฯ ในการยินยอม ให้ไถกลบต้นข้าว เพื่อพักนา เป็นการตัดวงจรเพลี้ยกระโดดและอีก 2 โรคที่ตามมา ทั้งนี้ เนื่องจากถ้าท่านไม่ตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และปลูกข้าวต่อเนื่องก็จะยิ่งกระตุ้นให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีวงจรอายุ 30 วัน แต่ข้าวมีอายุ 120 วัน เพลี้ยจึงสามารถขยายปริมาณได้ 3 ครั้งต่อการปลูกข้าว 1 รอบ ที่สำคัญเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะเจาะดูดลำต้นข้าว เป็นการตัดท่อน้ำท่ออาหารที่จะไปเลี้ยงต้นข้าว ทำให้ข้าวลีบ ผลผลิตเสียหาย ขายไม่ได้ราคา แต่ถ้าเกษตรกรเข้าร่วมโครงการยุติการระบาด จะได้รับการไถกลบต้นข้าวให้ พร้อมกับแจกพันธุ์ข้าวต้านทานโรคให้ไปปลูกรอบใหม่ด้วย ที่สำคัญท่านไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นด้วย เรียกว่าทั้งลดความเสี่ยงและได้ตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไปได้พร้อมกัน ท้ายนี้อธิบดีกรมการข้าว ย้ำมาว่า กรมการข้าวยังคงยึดมั่นพัฒนาชาวนาไทยให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อคงไว้ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตข้าวและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์