ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ยังคงสร้างความวิตกให้กับชาวไร่มันสำปะหลังหลายพื้นที่ ถึงแม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งควบคุมและป้องกันเพื่อจำกัดพื้นที่แพร่ระบาดไม่ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่มี ทีท่าว่าจะยุติลงง่าย ๆ ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า เพลี้ยแป้งได้แพร่ระบาดสร้างความเสียหายในแหล่งปลูกมันสำปะหลังแล้ว 32 จังหวัด รวมเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 8.5 แสนไร่ และมีแนวโน้มขยายตัวรุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยจะได้รับผลกระทบหนัก และยากเกินเยียวยา นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ของไทย โดยมีพื้นปลูกกว่า 1.89 ล้านไร่ กระจายอยู่ใน 32 อำเภอ จากการสำรวจพบว่า มีการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง จำนวน 138,242 ไร่ แยกเป็นมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือน จำนวน 46,440 ไร่ มันสำปะหลังอายุ 5-8 เดือน 55,196 ไร่ และมันสำปะหลัง อายุมากกว่า 8 เดือน จำนวน 36,606 ไร่ คาดว่าจะทำให้ผลผลิตลดลงจาก 3.8 ตันต่อไร่ เหลือ 3.6 ตันต่อไร่ หรือเมื่อเทียบเป็นพื้นที่ผลผลิตจะลดลงเหลือเพียง 6.8 ล้านตัน
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมาเร่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายรณรงค์ จำนวน 500 จุด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 291 จุด นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่เร่งจัดทำโครงการ หมู่บ้านมันสำปะหลังต้นแบบ นำร่อง 32 หมู่บ้าน ใน 32 อำเภอ เพื่อเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการบริหารจัดการควบคุม ป้องกัน และกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นกลไกหลักในการ ขับเคลื่อน
กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนสนับสนุนให้หมู่บ้านต้นแบบจัดตั้ง หน่วยเคลื่อนที่เร็วประจำหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโรคแมลงที่จะเกิดกับพืชในชุมชน ทั้งยังให้ความรู้แก่สมาชิกในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง รวมถึงวิธีการใช้สารเคมีและชีวภัณฑ์ในการฉีดพ่นอย่างถูกวิธีด้วย ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ลานมันโรงงานแป้งมันร่วมเป็นที่ปรึกษา ทั้งด้านรับรองผลผลิตให้แก่เกษตรกรตามระบบมาตรฐาน มีการพัฒนาแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพทั้งหัวสดและต้นพันธุ์ ซึ่งจะเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังในตำบลได้ สำหรับแนวทางควบคุมป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในหมู่บ้านต้นแบบ เน้นควบคุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์โดยมีคณะกรรมการตั้งด่านกักกันท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ซึ่งก่อนเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งอื่นมาปลูกในพื้นที่ สมาชิกต้องแจ้งให้กลุ่มทราบ และต้องฉีดพ่นหรือแช่ท่อนพันธุ์ในสารเคมีก่อน เคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ในพื้นที่ก็ต้องแจ้งให้กลุ่มรับทราบเช่นกัน และต้องทำความสะอาดเบื้องต้นก่อนนำไปปลูกด้วย เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งได้
อนาคตคาดว่า หมู่บ้านต้นแบบจะมีกลุ่มผู้ผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี สะอาด ปลอดโรคและแมลงเพื่อรองรับความต้องการของชาวไร่มันสำปะหลังในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง และยังคาดว่า จะมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการแบบครบวงจรการผลิตและการตลาด เช่น การรับบริการฉีดพ่นสารเคมีและแช่ท่อนพันธุ์ การผลิตและจำหน่ายต้นพันธุ์คุณภาพดี การรับบริการปลูกและเก็บเกี่ยวแบบครบวงจร ตลอดจนการรับซื้อหัวมันสดเพื่อการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการควบคุม ป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร โทร./แฟกซ์ 0-2955-7634.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์