"...ความจริงที่ตรงนั้นจะราคาแพงขึ้นเยอะ ซึ่งเดี๋ยวนี้ราคาที่ตรงนั้นถ้าไปซื้อจะไม่ขายให้ เดี๋ยวนี้ที่นั่นปลูกมะม่วง ปลูกผักได้อย่างดีมีกำไร ที่รักที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่จะทำให้มีกำไร ไม่เคยเอาเงินที่ได้มาถือว่าเป็นกำไร แต่ว่าสร้างเพิ่มเติมและซื้อที่เพิ่มเติมให้สามารถที่จะเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ซึ่งคนรู้จักกันทั้งนั้น... พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้ว่า ซีอีโอ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่หมู่ ที่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ 1,240 ไร่ และพื้นที่โครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน เนื้อที่ 655 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ฯ 1,895 ไร่ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีบทบาทหน้าที่ใน การเป็นศูนย์เรียนรู้ สถาน ศึกษา และให้การ พัฒนา ไปพร้อมกัน กล่าว คือ มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทางหรือวิธีการพัฒนา ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเพื่อการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ให้ราษฎรได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เมื่อศึกษาทดลองได้ผลแล้วก็จะนำไปขยายผลในลักษณะ การพัฒนา สู่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และขยายผลเป็นวงกว้างออกไป นางสาวสุดา สวัสดิ์ธนาคูณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ดังกล่าว ถือเป็นภารกิจสำคัญในการทำหน้าที่เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์พระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ประชาคมโลกทุกชาติทุกชนชั้นได้รับรู้ถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดของหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่มุ่ง สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาคนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกินให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
ในการดำเนินการของศูนย์ฯ ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงาน ระหว่างส่วนราชการแบบบูรณาการโดยเน้นการประสานงาน การประสานแผน และการบริหารจัดการ ระหว่างกรม กองและส่วนราชการ ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นจริงขึ้น โดยกรมพัฒนาที่ดินทำ หน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทั้งนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน นั้น เป็นหน่วยงานในการประสานงานกับหน่วยงานพัฒนาอื่น ๆ บูรณาการงานที่ร่วมกันปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์และที่สำคัญได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเกษตรกรอีกด้วย ...ตลอด 3 ทศวรรษแห่งการพัฒนา สภาพพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่การเกษตรบริเวณโดยรอบลุ่มน้ำจนได้รับการพัฒนาจากสภาพ ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว ได้เปลี่ยนฟื้นคืนพื้นที่ สีเขียวคืนความชุ่มชื้นด้วยระบบวนเกษตร เกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมันสำปะหลังอย่างเช่นในอดีต โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขแบบพอเพียง.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์