"แพะ สัตว์เศรษฐกิจสำคัญทางภาคใต้ของประเทศไทย พื้นที่การเลี้ยงแพะส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 88 ของจำนวนแพะที่มีอยู่ในประเทศอยู่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล แต่ทว่าภาคการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวกลับมีประสิทธิภาพการผลิตที่ค่อนข้างต่ำทำให้มีผลผลิตการเกษตรน้อย ซึ่งการพัฒนา ภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ฟาร์มแพะกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เป็นโครงการพิเศษที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งเน้นศึกษา ทดลอง วิจัยและขยายพันธุ์แพะ ให้ได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพื่อนำไปส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการฟาร์มตัวอย่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเกษตรกรมีการเลี้ยงแพะพื้นเมืองกันมาก แต่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร โดยให้นำไปปรับปรุงพันธุ์แพะพื้นเมือง เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสม และมีปริมาณเพียงพอต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่น นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะของไทย ฟาร์มแห่งนี้ ได้คัดเลือกพันธุ์แพะเนื้อ พันธุ์บอร์ ที่มี ต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ชั้นเยี่ยม มีความโดดเด่นในด้านการเจริญเติบโตที่ดี ปลอดโรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย และให้ผลผลิตเนื้อที่ดี ที่ฟาร์มแห่งนี้ ไม่เพียงเพาะเลี้ยงแพะเนื้อ พันธุ์บอร์ สายพันธุ์แท้เลือด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังพัฒนาแพะสายพันธุ์เลือด 75 เปอร์เซ็นต์ และ 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ตลอดจนศึกษาถึงการเลี้ยง และขยายปริมาณพันธุ์แพะที่ดี รวมทั้งคัดเลือกแพะพันธุ์บอร์ที่เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย และนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง เพื่อเป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ด้วยการบริจาคแพะพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นิติภูมิ หลงเก เกษตรกรวัย 48 ปี ประธานกลุ่มเลี้ยงแพะเนื้อท่าแพ หมู่ที่ 8 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับพันธุ์แพะของ ซีพีเอฟ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนจะเลี้ยง แพะกันแบบพื้นบ้าน คือเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย ในบริเวณสวนปาล์ม เพื่อขายในพื้นที่อำเภอ ท่าแพ จนเมื่อปี 2550 ได้รับมอบแพะเนื้อพันธุ์บอร์ ที่ซีพีเอฟบริจาคผ่านศอ.บต. ให้เอามาปรับปรุงพันธุ์กับแพะพื้นเมืองที่มีอยู่ เพื่อให้ได้สายพันธุ์แพะที่เหมาะสมกับพื้นที่ และมีปริมาณเพียงพอกับการขายในท้องถิ่น ทำให้วันนี้ผลผลิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะลูกที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์มีลักษณะเด่น คือ แข็งแรง โตเร็ว เลี้ยงง่าย เหมาะกับพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สามารถขายแพะเนื้อได้เร็วขึ้น รายได้ก็ดีขึ้น ปัจจุบันนี้มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากมาติดต่อขอซื้อแพะที่กลุ่มเราเพาะเลี้ยงได้ นับว่าเป็นการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง นำมาซึ่งการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์