ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการเพิ่มประสิทธิ ภาพการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ภายใต้แผนการพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สหกรณ์เป็นหลัก ในการพัฒนาคุณภาพสมาชิก และให้สมาชิกมีบทบาทสำคัญในการบริหารและพัฒนาสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์บริหารงานให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เป็นโครงการหนึ่งในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยากจนและไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ได้เข้ามาอาศัยและทำประโยชน์ โดยจัดตั้งในรูปแบบของหมู่บ้านสหกรณ์ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2507 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ แปรพระราชฐานวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบ คีรีขันธ์ และทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำ กินเป็นของตนเอง จึงรับเกษตรกรกลุ่มนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการ หุบกะพง อยู่ในความคุ้มครองของกรมป่าไม้ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ออกจากป่าคุ้มครอง ภายหลังทรงจับจองที่ดินดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของกรมป่าไม้ทุกประการ
ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเนื้อที่ประมาณ 12,079 ไร่ รวม 3 โฉนด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตมอบอำนาจการจัดที่ดินให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง เป็นผู้รับผิดชอบ นำไปจัดสรรและพัฒนาให้แก่เกษตรกร เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกิน เกษตรกรที่อยู่อาศัยในพื้นที่หุบกะพง แม้ว่าไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่สามารถใช้อยู่อาศัยและประกอบอาชีพได้ แต่ไม่สามารถแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้ ไม่สามารถซื้อขายเป็นเงินทองได้ ไม่สามารถนำไปทำธุรกรรมทางการเงินได้ โดยให้ถือว่าเอกสารฉบับนี้เป็นรางวัลตอบแทนความดีที่ท่านผู้ได้รับได้กระทำไว้ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจต่อเกษตรกรและวงศ์ตระกูล อันเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมโดยส่วนรวม ควรแก่รักษาผืนแผ่นดินนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ดินในโครงการหุบกะพงเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับเกษตรกร เกษตรกรก็ควรใช้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานนี้ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน และขณะเดียวกัน ก็ควรรักษา หวงแหนสมบัติล้ำค่านี้ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป สำหรับ ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงปัจจุบันได้มีการดำเนินการเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเกษตรกรที่สนใจในหลายด้านด้วยกันนับตั้งแต่ การจำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาไว้ในที่เดียว มีศูนย์เรียนรู้จากแปลงสาธิตการเกษตรของจริงจำนวน 6 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้การปลูกหน่อไม้ฝรั่งของนายตี๋ คล่องแคล่ว ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคขุนของนายออด พรมรักษา ศูนย์เรียนรู้ปลูกผักปลอดภัยของนายสด นิจ ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคนมของ นายดำเนิน เทียนชัย ศูนย์เรียนรู้ป่านศรนารายณ์ของ นางบุญศรี เนียมเงิน และ ศูนย์เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ของ นางปิ่นรัตน์ ตันหยง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เหมาะสมแก่การเข้าไปเรียนรู้ เพื่อนำมาปฏิบัติใช้ของผู้คนโดยทั่วไป และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการในพื้นที่นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการพัฒนาบุคลากรให้ได้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานมากขึ้น อันจะยังมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและก่อให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนแก่กิจการสหกรณ์ของสหกรณ์โครงการหุบกะพงสหกรณ์พระราชทานอย่างแท้จริง.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์