"ขอให้รักษาแม่น้ำต่าง ๆ ไว้ด้วย โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาขอให้คนทางกรุงเทพฯ ช่วยกันรักษาเพราะว่าแต่ก่อนแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่าแหล่งอาหารที่ยอดของคนทั้งหลาย และขอให้ประหยัดแหล่งน้ำจืดก็คือแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งน้ำจืดให้ใช้น้ำจืดอย่างรู้คุณค่า ตอนข้าพเจ้าเด็ก ๆ ยังเห็นชาวบ้านที่อยู่ในเรือขายข้าวนี่ เขาตักน้ำเจ้าพระยามาแล้วเขาก็รับประทานไปอย่างนั้นเลย เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนั้นสะอาดมาก เดี๋ยวนี้คงแย่แล้ว ที่แย่สุดคือพันธุ์ปลาตายไปเยอะแล้วสูญสิ้นซึ่งพันธุ์ปลา ขอวอนให้ท่านช่วยกันหันมารักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ป่า แม่น้ำลำธารต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2550 สถานการณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันวิกฤติลงมากจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ตัวต้นเหตุการก่อมลพิษในลำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่ลักลอบปล่อยของเสียลงในลำน้ำเจ้าพระยา และลำน้ำสาขาต่าง ๆ ตลอดจนการทำการประมงผิดวิธี ตัวการทำลายระบบนิเวศของปลาและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืดไทย และผู้จัดทำหนังสือพันธุ์ปลาไทยในแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ระบบนิเวศอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำพบชนิดพันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ประมาณ 400 ชนิด ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำลำธาร จากดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว และระบบนิเวศลำน้ำสายหลัก ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน จนถึงเจ้าพระยา บางพื้นที่เป็นระบบนิเวศหนอง บึง และที่มีน้ำท่วมถาวร เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นคร สวรรค์ จนกระทั่งถึงปากแม่น้ำสมุทรปราการ ครอบคลุมลุ่มน้ำบางปะกง ในแต่ละพื้นที่ของสายน้ำจัดมีกลุ่มปลาอาศัยอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่ ปลาที่อยู่ตลอดสายน้ำ อาทิ ปลาช่อน ปลาฉลาก อยู่ได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ปลาบางชนิดอยู่เฉพาะน้ำเค็มน้ำกร่อย เช่น ปลากดทะเล ปลาดุกทะเล และปลาบางชนิดอยู่ในเจ้าพระยาเป็นหลัก อาทิ ปลาเทโพ ปลาเทพา ปลาสร้อย และปลาที่อยู่ในหนองบึงพื้นที่น้ำท่วมทุ่ง เช่นปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาซิว เป็นต้น
ปัจจุบันปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาเหลือน้อยลง บางกลุ่มกำลังจะวิกฤติ สาเหตุมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งคือการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ขัดขวางการเดินทางไปวางไข่ของปลาบริเวณปากแม่น้ำ ปลาหลายชนิดเดินทางไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากเขื่อนเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว ยังมีปัจจัยเสริมอย่างอื่น เช่น การจับปลาที่มากเกินไป สภาพแม่น้ำที่เปลี่ยนไป ดร.ชวลิต กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยสำคัญของการลดจำนวนปลาอยู่ที่ระบบนิเวศเปลี่ยน เพราะมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย จากที่อดีตพื้นที่ลุ่มโดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำท่วมทุกปี ที่เรียกกันว่าน้ำท่วมทุ่ง ยกเว้นบางปีที่น้ำเหนือมาน้อย น้ำท่วมทุ่งถือเป็นระบบนิเวศที่ดีในการเจริญพันธุ์ของปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่อาศัยของลูกปลาตัวอ่อน แม่ ปลาจะเข้าไปวางไข่ในถิ่นที่น้ำท่วมทุ่ง ตัวอ่อนมีอาหารกินเมื่อแข็งแรงจะกลับสู่แม่น้ำในที่สุด ซึ่งปัจจุบันเหลือพื้นที่น้ำท่วมทุ่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม และส่วนหนึ่งของชัยนาท หรือริมถนนสายเอเซียพอจะมีให้เห็นบ้างถ้าบางปี มีน้ำมากก่อนที่ปลาไทยจะวิกฤติไปมากกว่าที่เป็นอยู่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้จัดงาน มหกรรมปลาไทยคืนถิ่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขึ้น ในระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค.นี้ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเชิญ ชวนทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนเพื่อสนองพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใย ในทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวประกอบด้วยการลงนามร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 50 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันดูแลรักษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ 9 ชนิด จำนวน 9 ล้านตัว ได้แก่ ปลาเทพา ปลากระโห้ ปลาเทโพ ปลากระเบนน้ำจืด ปลาตะเพียน ปลาม้า ปลาเค้าดำ และปลาบู่ รวมถึงการมอบกระชังอนุบาลพันธุ์ปลาไทยพร้อมอาหารสัตว์น้ำ และทุ่นแนวเขตเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 22 กลุ่ม นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงพันธุ์ปลาไทยในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบางชนิดจัดเป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธ์ุ และนิทรรศการด้านวิชาการและส่งเสริมอาชีพประมง พร้อมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วย สถานการณ์ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่ามีแนวโน้มลดลงเข้าขั้นวิกฤติ สาเหตุหลักเกิดจากการปล่อยมลพิษจากแหล่งชุมชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุกวันนี้มีพันธุ์ปลาสูญหายไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว 4 ชนิด คือปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาหวีเกศ ปลาหางไหม้ และปลาเทพา มีปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ประมาณ 64 ชนิด เช่น ปลากระโห้ ซึ่งกรมประมงได้เพาะขยายพันธุ์ปลาหายากเหล่านี้ และเตรียมนำไปปล่อยคืนถิ่นเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อธิบดีกรมประมงกล่าว
ดร.ชวลิตกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ลูกปลาที่ปล่อยสู่ เจ้าพระยาถ้ามีโอกาสรอดชีวิตเป็นพ่อแม่พันธุ์เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่ปล่อยทั้งหมด แต่มีบางส่วนที่เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติคือถูกจับมาเป็นอาหาร หรือเป็นอาหารของปลาชนิดอื่นไป เช่นเดียวกับกุ้งแม่น้ำใน ลำน้ำเจ้าพระยาที่จะพบเพียงตอนล่างของแม่น้ำ เพราะธรรมชาติของกุ้งแม่น้ำจะต้องเดินทางไปวางไข่บริเวณปากแม่น้ำซึ่งเป็นน้ำกร่อย ส่วนกุ้งที่พบเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไปเป็นกุ้งที่ปล่อยโดยกรมประมงไม่มีลูกกุ้งเกิดใหม่ได้ นอกจากขบวนการปล่อยปลาคืนถิ่นเจ้าพระยา แนวทางของการอนุรักษ์เจ้าพระยาเพื่อคงความใสสะอาดของสายน้ำยังต้องขึ้นอยู่กับคน ชุมชน และจิตสำนึกที่ต้องเดินคู่ไปทั้งระบบเพื่อเยียวยาเจ้าพระยา.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์