ลักษณะจักจั่นทะเลที่ตัวโตเต็มวัย.
ชาวบ้านบางแหล่งเรียกว่า จักจั่นลิง หรือ จักจั่นช้าง สัตว์ทะเลที่พบมากตามบริเวณหาดทรายแก้ว หาดสวนมะพร้าว หาดไม้ขาว ในจังหวัดภูเก็ต... สัตว์ทะเลที่พบมากตามบริเวณหาดทรายแก้ว หาดสวนมะพร้าว หาดไม้ขาว ในจังหวัดภูเก็ต นอกจาก ปูลม หอยตัวเล็ก ถ้าสังเกตให้ดีเวลาที่มีคลื่นแรงกระทบเข้าหาฝั่ง จะเห็น "จักจั่นทะเล" ลอยตามมากับคลื่นด้วยเช่นกัน และ...จากกระแสของกลุ่มผู้บริโภคที่การนิยม "เปิบ" เมนู "จักจั่นทะเลชุบแป้งทอด" ส่งผลให้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านบริเวณหาดไม้ขาว เพื่อจับจักจั่นฯ ส่งขายให้กับร้านอาหารสร้างรายได้เสริมตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งจะมีขึ้นฝั่งมาก ยกเว้นหน้ามรสุม
... "จักจั่นทะเล" (Hippa) หรือที่ชาวบ้านบางแหล่งเรียกว่า จักจั่นลิง หรือ จักจั่นช้าง จะหายใจโดยใช้เหงือก ดำรงชีวิตเป็นอิสระ อาศัยอยู่ในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล เป็นสัตว์แยกเพศ การปฏิสนธิเกิดภายในร่างกาย
มีลักษณะรูปร่างคล้ายเหมือนแมลง ด้านหัวมีกรี แต่ไม่แข็งเหมือนกรีกุ้ง ข้างกรีมีหนวดข้างละเส้น กระบอกตา แหลมแข็ง เปลือก สีกลมกลืนกับหาดทราย มีกระดอง 3 ชิ้นต่อซ้อนกัน หุ้มส่วนหัว เกือบถึงส่วนเป็นลำตัว เพื่อใช้กันอวัยวะช่วยให้สะดวกขณะที่ม้วนตัวมุดลงทราย และมี "ปิ้ง" ต่อจากลำตัวเป็นท้องรูปสามเหลี่ยมพับติดซ้อน นอกจากขา 5 คู่ จะเหมือนกุ้งแล้ว "ไข่" ที่เกาะอยู่ใต้ท้องของมันก็ยังเหมือนด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการสังเกตพบว่าพวกมันจะมีไข่แทบทุกตัว ชาวบ้านแถบนี้ตั้งข้อสันนิษฐานการขยายพันธุ์กันว่า น่าจะวางไข่ใต้พื้นทรายลึกลงไปริมชายหาด พอเกิดเป็นตัวก็ถูกกระแสคลื่นลากออกไป แล้วคลื่นก็พัดมาสู่หาดทรายอีกครั้ง
...เพื่อรอกระแสจากคลื่นลูกใหม่ มาลากออกไปตลอดชายหาดไม้ขาว ระยะทาง 11 กิโล ไปจนถึงหาดทรายแก้ว ทำให้วงจรชีวิตของจักจั่นทะเลเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งนี้ การเจริญเติบโตของ ตัวอ่อนนั้น มีการลอกคราบหลายครั้งในขณะที่ฝังตัวในทราย โตเต็มที่ขนาดตัวเท่าแมลงทับ ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร สำหรับการจับ ชาวบ้านแถบนี้บอกกับ "หลายชีวิต" ว่า จะคอยเดินตามชายหาด เพื่อสังเกตพื้นทรายที่คลื่นทะเลซัดแรงๆ พอคลื่นไหลกลับลงทะเล หากเห็นสายน้ำแยกออกเป็นรอย 2 คู่ นั่นแสดงว่ามีจักจั่นฝังตัวอยู่ จากนั้นจะใช้ "สวิง" หรือ "ตาข่าย" มาดักจับทิศทางที่คลื่นไหลกลับลงทะเลให้ไว เพราะจักจั่นทะเลมีประสาทรับรู้ที่เร็ว
...หากมีศัตรูมา มันจะรีบฝังตัวเองลงไปในพื้นทรายด้วยความรวดเร็ว ฝังลงสู่พื้นทรายลึกเกือบ 1 ฟุตทันที... แม้จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่ควรมีการวางแผนอนุรักษ์ควบคู่ เพราะไม่อย่างนั้น วันข้างหน้าอาจไม่มีเหลือให้รุ่นหลังได้เห็นอย่างแน่นอน..
เพ็ญพิชญา เตียวที่มา : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน์