"เร่วหอม พืชสมุนไพรเศรษฐกิจมากคุณค่า สามารถสกัดได้เป็น ทั้งน้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารได้อีกหลากหลายชนิด โดยนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาช่วยการขยายพันธุ์เร่วที่มีคุณภาพ เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาดยาสมุนไพรและตลาดสินค้าส่งออก นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ และทีมงานนักวิจัยฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และทีมงานนักวิจัยสถานีวิจัยวนเกษตรตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนาการผลิตต้นกล้าเร่วหอม โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาช่วยในการขยายพันธุ์ เนื่องจากเร่วหอมเป็นพืชสมุนไพรที่ เหง้ามีกลิ่นหอมและมีน้ำมัน หอมระเหยเป็นองค์ประกอบ จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยทำการปลูกแบบระบบการปลูกพืชเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดการเข้าไปขุดเหง้าเร่วหอมจากป่ามาขาย สำหรับวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเร่วหอมนั้น เริ่มจากการฟอก ฆ่าเชื้อเนื้อเยื่อเร่วหอม โดยนำหน่ออ่อนที่ใบยังไม่ คลี่ออกยาวประมาณ 5-6 นิ้ว มาล้างให้ สะอาด ลอกกาบใบออกเพื่อนำไปฟอกฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคลอร็อก 10% นาน 10 นาที และ 5 นาที ล้างน้ำให้สะอาด 2 ครั้ง จากนั้นให้สูตรอาหารที่เหมาะสมในการ ขยายพันธุ์ตามลำดับขั้นตอนของอายุเนื้อเยื่ออ่อน
เมื่อมีการแตกหน่อใหม่ที่สมบูรณ์แล้วได้นำไปทดลองปลูกที่สถานีวิจัยวน เกษตรตราด จ.ตราด พบว่าเร่วหอมเจริญเติบโตได้ดี ทั้งที่ปลูกในร่มเงาของสวนยางพารา สวนผลไม้ที่มีร่มเงาประมาณ 50-60% สำหรับการเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่าย เมื่อเร่วหอมมีอายุประมาณ 3 ปี มีกิ่งเหง้าขนาด 1-2 ต่อต้นกอ สามารถขุดแยก เหง้าแล้วนำไปขายได้กิโลกรัมละ 25-30 บาท และเมื่อแยกเหง้าแล้วสามารถปล่อยให้เหง้าในดินแตกหน่อเพื่อเติบโตต่อไปได้อีกด้วย การนำเร่วหอมไปใช้ประโยชน์ อาทิ ผลใช้เป็นเครื่องเทศ ใช้ปรุงยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด รากมีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาเส้น ยาหอมเย็น เครื่องปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แกงเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด และน้ำต้มเนื้อ เหง้ามีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบ รับประทานสดหรือใช้ต้มน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว นับได้ว่าเร่วเป็นพืชที่มีศักยภาพชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมาพบว่ามีการส่งเร่วเป็นสินค้าออกจำนวนกว่า 200,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งตลาดที่มีความ ต้องการอย่างมาก ได้แก่ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เพราะนอกจากจะบริโภคในระดับครัวเรือนแล้ว ยังนำมาทำเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเร่วให้เป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อการแข่งขันด้านการส่งออกต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์