สืบเนื่องจากเสาชิงช้า ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์มหานคร กรุงเทพ นับแต่ช่วงแรกสร้างกรุงเมื่อกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา มีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามอายุ กรุงเทพมหานคร เห็นควรจัดหาไม้มาทดแทนเสาชิงช้าตามลักษณะ ขนาด และรูปแบบเดิมที่ตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของวัดสุทัศนเทพวราราม วัดประจำรัชกาลปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงได้มีการหารือกับหน่วยงานที่มีความชำนาญในเรื่องพันธุ์ไม้ ออกค้นหาต้นสักที่มีลำต้นตรง ไม่มีตำหนิขนาดความยาวก่อนตัดแต่งยาวอย่างน้อย 25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปลายเสาอย่างน้อย 40 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้นอย่างน้อย 80 เซนติเมตร จำนวน 6 ต้น ด้วยความที่ต้องการที่จะรักษาต้นสักที่มีลักษณะดีทั้ง 6 ต้นโครงการสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการบูรณาการในการอนุรักษ์สายพันธุ์สักมงคลที่นำไปทำเสาชิงช้า ด้วยการขยายพันธุ์สักทองให้ได้ 1 ล้านต้นในปี 2554 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่สำคัญ คือ กรมป่าไม้ ก่อนที่จะมีการตัดโค่นต้นสักที่คัดเลือกไว้ ได้เก็บกิ่ง ตาพันธุ์ของต้นสักทั้ง 6 ต้นมาติดตากับต้นตอ และเก็บรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวนวัฒนวิจัยงาว จ.ลำปาง ส่วนการขยายพันธุ์ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นผู้จัดทำเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมของต้นสักมงคล นำต้นแม่พันธุ์ไปขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พร้อมทั้งทำลายพิมพ์เอกลักษณ์ (finger print) เพื่อตรวจสอบว่าเป็นต้นสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าจริง แล้วส่งมอบกล้าสักที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้กรมป่าไม้นำไปขยายพันธุ์ต่อด้วยวิธีปักชำ (cutting) และนำมาดูแลไว้ในถุงเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 1 ล้านต้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครเพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับประชาชน
ส่วนการดำเนินการแจกจ่ายให้กับประชาชนนั้นได้กำหนดไว้ว่าในปี 2552 จะสามารถแจกจ่ายกล้าไม้สักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าได้ จำนวน 20,000 กล้า ในปี 2553 นี้ จำนวน 280,000 กล้า และสิ้นสุดโครงการในปี 2554 จำนวน 700,000 กล้า รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000,000 กล้า โดยกรมป่าไม้ได้จัดทำโปรแกรมการแจกจ่ายต้นสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าผ่านระบบอินเทอร์ เน็ต ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาลงทะเบียนรับกล้าไม้ทางอินเทอร์เน็ต โดยใช้เลขที่ บัตรประชาชน 13 หลัก เป็นตัวกำหนด ที่ www.klasakmongkol.org หรือผ่านลิงก์ทางเว็บไซต์กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร หรือไบโอเทค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า มีจำกัดเพียง 1 ล้านต้นเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีโอกาสภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล รักษา สายพันธุ์ของต้นสักที่นำไปสร้างเสาชิงช้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ไปปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลได้อย่างทั่วถึง จึงกำหนดให้รับกล้าไปปลูกเพียงคนละ 1 ต้น หากเป็นหน่วยงานได้หน่วยงานละ 9 ต้น นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวก ในการจัดกิจกรรมของกรมป่าไม้ในโอกาสต่าง ๆ กรมป่าไม้จะนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการในการลงทะเบียน และรับกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า ณ จุดที่จัดกิจกรรมได้โดยตรง เช่น วันข้าราชการพลเรือน ในระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2553 ณ อาคาร ระหว่างประเทศ ชั้น 3 สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ จำนวน 2,000 ต้น และงานสถาปนิก 53 (ARCHITECT 10) ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-5 พฤษภาคม 2553 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ชาลเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 จำนวน 2,000 ต้น เป็นต้น ประชาชนที่สนใจรับกล้าไม้สักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า สามารถรับกล้าสักได้ตามวัน-เวลาดังกล่าวข้างต้น หรือติดต่อโดยตรงที่เว็บไซต์ของกรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร ไบโอเทค ซึ่งประชาชนและหน่วยงาน ทุกภาคส่วนของประเทศจะได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขยายสายพันธุ์นี้ไว้ อีกทั้งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดภาวะโลกร้อน อันจะเป็นผลในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล รักษาสายพันธุ์ของต้นสักที่นำไปสร้างเสาชิงช้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ ที่สำคัญคือประชาชนจะได้รับกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า ครบ 1 ล้านต้นเพื่อนำไปปลูกเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2554.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์