ละมั่ง จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งในสิบห้าชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในปัจจุบันละมั่งทั้งสองสายพันธุ์คือ สายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์พม่า ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากป่าธรรมชาติของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามสถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าในสังกัดสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวมทั้งสวนสัตว์เอกชนหลายแห่ง สามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ละมั่งสายพันธุ์พม่าในสภาพกรงเลี้ยงจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีจำนวนละมั่งมากพอที่จะนำไปปล่อยกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของละมั่งสายพันธุ์ไทยนั้นมีจำนวนน้อยมากโดยมีการเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพฯ และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี โดยคาดว่าทั้งสองแห่งมีละมั่งรวมกันไม่เกินห้าสิบตัว ดังนั้นนักวิจัยที่มีความสนใจในการอนุรักษ์ละมั่งจึงมีความเห็นตรงกันว่าควรจะทำการขยายพันธุ์ละมั่งสายพันธุ์ไทยโดยการผสมตามธรรมชาติไปก่อนให้มีจำนวนมากพอ จากนั้นค่อยนำ มาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการช่วยสืบพันธุ์ต่าง ๆ เช่น การผสมเทียม การผลิตตัวอ่อน และ การย้ายฝากตัวอ่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในกรงเลี้ยง โดยมีแนวคิดในการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยการแลกเปลี่ยนน้ำเชื้อแช่แข็งหรือตัวอ่อนละมั่งสายพันธุ์ไทยจากต่างประเทศมาผสมกับละมั่งสายพันธุ์ไทยในกรงเลี้ยงในประเทศไทยต่อไป... และตอนนี้ก็มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นเมื่อคณะทำงาน ผสมเทียมละมั่ง ประสบความสำเร็จจน ได้ลูกละมั่งด้วยวิธีผสมเทียมเป็นตัวแรกของประเทศ และเป็นตัวที่ 2 ของโลก (ละมั่งตัวแรกที่เกิดจากการผสมเทียมเกิดขึ้นที่มินนิโซตา สหรัฐอเมริกา เมื่อ 17 ปีที่แล้ว) โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ละมั่งให้จำนวนเพิ่มมากขึ้น คณะวิจัยผสมเทียมละมั่งมี นายสัตวแพทย์ ดร.สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช จากภาควิชาเวชศาสตร์ คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยลูกละมั่งผสมเทียมตัวนี้ชื่อ อั่งเปา เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (14 กุมภาพันธ์ 2553 นอกจากถือว่าเป็นวันวาเลนไทน์ตามธรรมเนียมชาวตะวันตกแล้ว ยังเป็นวันตรุษจีน อีกด้วย ฉะนั้น ลูกละมั่งตัวนี้จึงชื่อ อั่งเปา) เป็นเพศเมีย มีร่างกายสมบูรณ์และสุขภาพแข็งแรง เกิดจากละมั่งสายพันธุ์พม่า อายุตั้งท้องประมาณ 8 เดือน ซึ่งเป็นการทดลองผสมเทียมนำร่องก่อนจะผสมเทียมละมั่งสายพันธุ์ไทยในครั้งต่อไป สัตวแพทย์หนึ่งในคณะวิจัยผสมเทียมละมั่งกล่าวว่า กระบวนการผสมเทียมเริ่มจากรีดน้ำเชื้อละมั่งตัวผู้ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า บางละมุง กรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้วนำมาตรวจสอบคุณภาพความแข็งแรงของน้ำเชื้อและปริมาณอสุจิว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำไปเก็บรักษาในรูปแช่แข็ง ส่วนละมั่งตัวเมียอยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต้องคัดเลือกตัวที่พร้อมผสมเทียมเต็มที่ โดยฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในรังไข่ ซึ่งเป็นเทคนิคซับซ้อน และกระตุ้นด้วยฮอร์โมนให้ร่างกายพร้อมปฏิสนธิ โอกาสที่จะผสมเทียมละมั่งได้สำเร็จจึงเป็นเรื่องยาก ก่อนหน้านี้ทางสวนสัตว์ดุสิตได้พยายามผสมเทียมละมั่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
โครงการวิจัยผสมเทียมละมั่งมีจุดประสงค์หลักคือ เพาะพันธุ์ละมั่งไทยปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากละมั่งไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยและหายากกว่าละมั่งพม่า คาด ว่าละมั่งไทยเหลือเพียง 2 แห่ง คือ ที่สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดิน และสถานีเพาะเลี้ยง สัตว์ป่า บางละมุงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งลูกละมั่งเกิดจากการผสมพันธุ์ในเครือญาติ ทำให้มีปัญหาสายพันธุกรรมบกพร่อง เพราะอยู่ในภาวะเลือดชิด ลูกละมั่งจะมีร่างกายอ่อนแอ รูปร่างเล็ก และติดเชื้อโรคง่าย ทำให้โอกาสรอดชีวิตต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ในที่สุด ดังนั้น การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ละมั่งไทยจึงต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ นอกจากนี้ การรีดน้ำเชื้อละมั่งตัวผู้เพื่อเก็บรักษาในรูปแช่แข็ง ก็นับเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน และต้องเก็บสำรองน้ำเชื้อละมั่งให้ได้มากที่สุด ขณะนี้มีน้ำเชื้อละมั่งพันธุ์ไทยเกิดในป่า สามารถเป็นพ่อพันธุ์ผสมตัวเมียอื่น ๆ ที่อยู่ในสวนสัตว์ได้ เพื่อปรับปรุงสายพันธุกรรมให้ดีขึ้น และป้องกันภาวะเลือดชิด รวมทั้งยังมีโครงการผสมเทียมด้วยกระบวนการอื่น ๆ เช่น ผสมเทียมในหลอดแก้วและการโคลนนิ่ง เป็นต้น.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์