สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ ได้แก่ เครื่องดื่มจากผักพื้นบ้าน : น้ำผักเชียงดา น้ำผักหวานบ้าน น้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่ม และ ขนมขบเคี้ยวแบบแท่งเพื่อสุขภาพ แต่ละผลิตภัณฑ์ล้วนเป็นการนำวัตถุดิบในการผลิตจากในประเทศและล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ ที่สำคัญพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชน ขอจำแนกแต่ละผลิตภัณฑ์ดังนี้... เครื่องดื่มจากผักพื้นบ้าน จาก น้ำผักเชียงดา และ น้ำผักหวานบ้าน ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติ และมีประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อีกทั้งผลิตภัณฑ์นี้ยังให้แคลอรีต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันที่จำหน่ายในท้องตลาด โดย วว.ได้พัฒนาน้ำผักเชียงดาและผักหวานบ้าน ชนิดละ 2 สูตร คือ สูตรธรรมชาติและสูตรน้ำผึ้งผสมมะนาว โดยใช้สารที่ให้ความ หวานแทนน้ำตาล ให้พลังงานเพียง 15 กิโลแคลอรีต่อหน่วยบริโภค (220 มิลลิลิตร) และมีปริมาณโซเดียมต่ำเพียง 10 มิลลิกรัมเมื่อเทียบผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในท้องตลาดที่ให้พลังงานระหว่าง 45-70 กิโลแคลอรี และมีเกลือโซเดียมระหว่าง 20-55 มิลลิกรัม นับว่าเครื่องดื่มน้ำผักดังกล่าวเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รักสุขภาพที่ต้องการเสริมสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งช่วยควบคุมระดับน้ำ ตาลและจำกัดพลังงานที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน
ว่านหางจระเข้พร้อมดื่ม ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบหลัก และเสริมรสชาติผลิตภัณฑ์ด้วยน้ำผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน เช่น ส้ม ฝรั่ง สับปะรด โดยผลิตภัณฑ์ยังคงคุณค่าของว่านหางจระเข้ อย่างครบครัน ช่วยบำรุงร่างกายเนื่องจากการอ่อนเพลียพักผ่อนน้อย และยังเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายของร่างกายเป็นปกติ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาโรคกระเพาะอาหารอักเสบอีกด้วย มี 2 สูตร ได้แก่ น้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่มจากผลไม้เข้มข้น (สีส้มออกเหลือง) และ น้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่มจากผลไม้ธรรมชาติ (สีเขียวอ่อน) โดยเลือกใช้น้ำตาลฟรุกโตส เป็นสารให้ความหวาน รวมทั้ง ยังได้พัฒนาเป็นเครื่องดื่ม ชนิดผง มี 2 สูตร ได้แก่ เครื่องดื่มชนิดผงกลิ่นมะตูมและกลิ่นเก๊กฮวย ขนมขบเคี้ยวแบบแท่งเพื่อสุขภาพ ซี-ไรซ์ ใช้วัตถุดิบหลักที่หาได้จากภายในประเทศ ได้แก่ ข้าวและธัญพืช เช่น ถั่วลิสง งา เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ผลไม้อบแห้ง และน้ำผึ้ง โดยผลิตภัณฑ์ได้ปรับแต่งกลิ่น รสชาติและ เนื้อสัมผัสของขนมและเสริมคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมกับวัยของกลุ่มผู้บริโภค 3 วัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ทางโภชนาการครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร แร่ธาตุ วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ แต่มีปริมาณไขมันและน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับนำไปรับประทาน ทดแทนมื้ออาหารหรือทานเล่นในยามว่าง
วว.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ ให้แก่ภาคเอกชน เพื่อนำผลิตในเชิงพาณิชย์ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0-2577-9000 หรือคอลเซ็นเตอร์ วว. โทร. 0-2579-3000 ในวันและเวลา ราชการ.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์