ปี 2553 นี้ กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิต ลิ้นจี่ออกสู่ตลาดทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 74,328 ตัน เป็นลิ้นจี่จากพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และพะเยา จำนวน 62,366 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา คิดเป็น 11.22% เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนประกอบกับปัญหาภัยแล้งทำให้ลิ้นจี่สุกเร็วและมีคุณภาพต่ำ โดยผลผลิตจะเริ่มทยอยสู่ท้องตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน และจะกระจุกตัวสูงมากในช่วงเดือนพฤษภาคมช่วงเดียวกับผลไม้ภาคตะวันออก คิดเป็น 57.91% ...อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้เร่งจัดทำแผนบริหารจัดการลิ้นจี่ เตรียมพร้อมรองรับปัญหาลิ้นจี่ล้นตลาดและราคาตกต่ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้... นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแผนบริหารจัดการลิ้นจี่ ปี 2553 ว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) มีมติเห็นชอบในการบริหารจัดการลิ้นจี่ ภายใต้ 4 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ 2.มาตรการส่งเสริมการแปรรูป 3.มาตรการพัฒนาคุณภาพผลผลิต และ4.มาตรการส่งเสริมตลาดภายในประเทศ โดยใช้งบประมาณของจังหวัดและท้องถิ่น จำนวน 41,066 ตัน (65.84%) และบริหารจัดการโดยของบจาก คชก.เพิ่มเติม จำนวน 21,300 ตัน เป็นเงินจ่ายขาด 49,454,000 บาท และเงินทุนหมุนเวียน 7.50 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ในแหล่งผลิตใหญ่ 4 จังหวัด สำหรับมาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ มีเป้าหมาย จำนวน 22,250 ตัน โดยจะสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี ให้แก่กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนในการจัดซื้อลิ้นจี่สดเพื่อเร่งระบายผลผลิต ออกนอกแหล่งผลิต จำนวน 2,250 ตัน ใช้เงินทุนหมุนเวียน 7.50 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ช่วยกระจายลิ้นจี่สดไปสู่ตลาดปลายทาง โดยจะชดเชยค่าขนส่งเหมาจ่ายและค่าบริหารจัดการลิ้นจี่ อัตรากิโลกรัมละ 2 บาท จำนวน 20,000 ตัน วงเงินจ่ายขาด 40 ล้านบาท
มาตรการส่งเสริมการแปรรูป มีเป้าหมายดำเนินการ 600 ตัน โดยจะสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้ง ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย และเอสเอ็มอี (SME) ให้แก่กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการแปรรูปอบแห้งเนื้อลิ้นจี่ โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี วงเงินกู้ 6 ล้านบาท และใช้เงินจ่ายขาด 3 แสนบาท ส่วนมาตรการส่งเสริมตลาดภายในประเทศนั้น ได้เตรียมแผนประสานความร่วมมือกับจังหวัดเพื่อจัดงานเทศกาลรณรงค์การบริโภคและจำหน่ายลิ้นจี่ในจังหวัดแหล่งผลิต พร้อมรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคลิ้นจี่ในจังหวัดปลายทางที่มีศักยภาพการตลาดสูง 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนคร สวรรค์ นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี อุบล ราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป้าหมายผลผลิตไม่น้อยกว่า 100 ตัน ใช้เงินจ่ายขาดรวม 5.80 ล้านบาท ปีนี้ต้นทุนการผลิตลิ้นจี่เฉลี่ยอยู่ที่ 12.93 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเกษตรกร ขายได้ช่วงผลผลิตกระจุกตัวมาก คาดว่าเฉลี่ยที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ผู้ปลูกลิ้นจี่ขาดทุนและได้รับความเดือดร้อน เพราะนอกจากจะแข่งกันเองแล้ว ลิ้นจี่ภาคเหนือยังต้องแข่งขันด้านการตลาดกับผลไม้ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ซึ่งมีช่วงเวลาสุกแก่และออกสู่ตลาดตรงกัน หากวางแผนบริหารจัดการระบายผลผลิตไม่ดี ผลไม้อาจเน่าเสียปริมาณมากหรืออาจเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำขึ้นซ้ำอีกได้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว อย่างไรก็ตาม ระยะนี้สวนผลไม้ ต้องประสบปัญหาภาวะอากาศแปรปรวน และแห้งแล้ง เกษตรกรจำเป็นต้องรักษาความชื้นในดินให้เหมาะสม อย่าให้ต้นไม้ ขาดน้ำเพราะจะส่งผลถึงคุณภาพผลผลิตได้ บางพื้นที่อาจมีพายุฤดูแล้งเกิดขึ้น ดังนั้น ควรมีการโยงกิ่งหรือค้ำต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักเนื่องจากลมพายุในฤดูแล้งและน้ำหนักของผลผลิต ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันและลดความสูญเสียได้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์