ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ได้มีการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2553 สถานการณ์จะรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยปีนี้มีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง มากกว่า ปี 2552 จำนวน 4,743 หมู่บ้าน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.38 โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งซ้ำซากจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณฝนรวมในฤดูร้อนปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลให้ทุกหน่วยงานมีความตื่นตัวในการเตรียมรับมือกับภาวะวิกฤติดังกล่าว นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากร กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำ นับเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ รับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยจาก การประเมินสถานการณ์ล่าสุดพบว่ามีจังหวัดที่ประสบภัยแล้งจำนวน 29 จังหวัด 224 อำเภอ 1,526 ตำบล 11,000 หมู่บ้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.0 ของหมู่บ้านในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง (28,649 หมู่บ้าน) หรือร้อยละ 14.0 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าในปี 2553 ปัญหาภัยแล้งจะขยายวงกว้าง ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 55 จังหวัด หรืออาจจะครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และปัญหาภัยแล้งจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากในปีนี้มีเหตุการณ์ที่ หนุนความรุนแรงของปัญหาภัยแล้ง คือ น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงเร็วกว่าและมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากในปีนี้ประเทศจีนประสบปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง ทำให้ต้องมีการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนที่สร้างอยู่ทางต้นแม่น้ำโขง ซึ่งในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ระดับน้ำลดลงมากประมาณ ร้อยละ 20-30
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าในปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงแห้งมากที่สุดในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ ปัญหาผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้สภาพอากาศร้อนมากกว่าปกติ และเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งซ้ำซากจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากปริมาณฝนรวมในฤดูร้อนปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำยังได้เตรียมแผนรับมือภัยแล้งโดยได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ 4 โครงการ คือ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแขมหลวง จ.ลำปาง โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองตีนดอย จ.ตาก โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำทุ่งกระเต็น จ.บุรีรัมย์ และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ บึงกิว (บึงจิ๋ว) จ.ร้อยเอ็ด นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกกว่า 1,700 แห่ง ด้านน้ำอุปโภคบริโภคนั้นได้เตรียมรถบรรทุกน้ำ จำนวน 19 คัน รถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 6 คัน เครื่องสูบน้ำ จำนวน 141 ชุด และรถประปาสนาม จำนวน 12 คัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในกรณีเร่งด่วน และยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 125 แห่งได้แก่ สงขลา 44 แห่ง ยะลา 9 แห่ง นราธิวาส 23 แห่ง ปัตตานี 21 แห่ง และสตูล 28 แห่ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำยังได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสานและการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือโครงการ น้ำถึงไร่นา ประปาถึงทุกบ้าน เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว กรมทรัพยากรน้ำยังได้เตรียมมาตรการบรรเทาภัยแล้งในปีนี้ โดยกำหนดไว้ 8 มาตรการ ได้แก่ 1. ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งและการปลูกข้าวนาปรังให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในอ่าง 2. การเตรียมการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัยแล้งโดยสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ทั้งนี้ได้เตรียมเครื่องบินสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 31 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 19 เครื่อง และเครื่องบินของกองทัพอากาศ 12 เครื่อง 3. การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพโดยการสำรวจปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำ ณ ช่วงสิ้นฤดูฝนและวางแผนการใช้น้ำให้ตลอดฤดูแล้ง 4. การก่อสร้างฝายต้นน้ำโดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 5. การเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 6. การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ ซ่อมแซมปรับปรุงบ่อน้ำตื้น และระบบประปาหมู่บ้าน 7. บูรณาการจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยการเตรียมน้ำสะอาดสำหรับแจกจ่ายในพื้นที่ภัยแล้ง และระบบประปาหมู่บ้าน และ 8. การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้ค่าทั้งนี้ หากประชาชนต้องการขอรับ ความช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-2271-6000 ไม่เว้นวันหยุดราชการ.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์