นายประวิม วุฒิสินธุ์ รองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ทช. พยายามนำเต่าทะเลกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ยังไม่สามารถชดเชยกับจำนวนที่สูญเสียไปได้ เนื่องจากอัตราการรอดของลูกเต่าทะเลในธรรมชาติมีน้อยมาก ประกอบกับการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องมือทำการประมงทำให้เต่าทะเลถูกทำลายโดย การประมงใกล้ฝั่งปีละจำนวนมาก และ ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและ อนุรักษ์เต่าทะเลออกมาหลายฉบับแต่จำนวนเต่าทะเลก็ยังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว ที่ผ่านมา ทช.จึงพยายามเร่งวิจัยเต่าทะเลที่ได้รับการอนุบาลอายุระหว่าง 1-2 ปี จะมีพฤติกรรมการหากินเหมือนเต่าทะเลอายุระหว่าง 3-5 ปี ที่โตตามธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งผลจากการวิจัยทำให้ทราบว่าเต่าที่ได้รับการอนุบาลก่อนปล่อยออกสู่ทะเลจะไม่ออกหากินไกลจากชายฝั่งมากนัก ซึ่งถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงสำหรับเต่าทะเลในอนาคต จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการ เร่งวิจัยแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนต่อไป ทางด้าน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ทช. กล่าวว่า สถาบันฯเห็นว่าควรจะอนุบาลเต่าตนุให้มีอายุครบ 1 ปี หรือมีขนาดกระดองเท่ากับเต่าอายุ 3-5 ปี ในธรรมชาติคือ ขนาด 25-35 ซม. จึงจะปล่อยกลับทะเลได้ เพื่อให้เต่ายังคงหากินใกล้กับชายฝั่งและ มีโอกาสรอดไปจนถึงวัยผสมพันธุ์ จึงได้ทดลองโดยอนุบาลเต่าตนุจำนวน 13 ตัว โดยให้ปลา ปลาหมึก และวิตามินเสริม เป็นอาหารเพื่อให้มีขนาดใหญ่ตามต้องการ จากนั้นเริ่มปล่อยเต่าตัวแรกในปี 2538 และตัวสุดท้ายในปี 2552 โดยติดตั้งเครื่องมือติดตาม พบว่าเต่าทั้ง 13 ตัว อายุตั้งแต่ 1-5 ปี ว่ายน้ำหากินใกล้กับชายฝั่ง ซึ่งผลจากการวิจัยนี้สรุปได้ว่า การปล่อยเต่าหลังจากอนุบาลแล้ว 1 ปี หรือมีขนาดใกล้เคียงกับเต่าที่โตแล้วตามธรรมชาติ สามารถลดความเสี่ยงที่เต่าจะเสียชีวิตก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ได้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์