แม้ว่าปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยหมักยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีความเหมาะสมต่อการจัดการขยะอินทรีย์ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้งานในวงกว้าง โดยเฉพาะระดับครัวเรือนและพาณิชยกรรม เนื่องจากเป็นกระบวนการทางชีวภาพ ประกอบกับประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อน จึงทำให้อัตราการหมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายไม่มาก การดำเนินการไม่ยุ่งยากซับซ้อน ผศ.ดร.บัญจรัตน์ โจลานันท์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา องค์ความรู้ในการหมักปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศไทยส่วนใหญ่ผลิตซ้ำในกลุ่มเรื่องกระบวนการจัดการทางวิศวกรรม และการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมักเป็นหลัก ขณะที่นวัตกรรมหรือเทคนิคการหมักปุ๋ยแบบใหม่ยังมีปริมาณผลงานน้อยมาก โดยทั่วไปแล้วในการหมักปุ๋ยจำเป็นต้องผสมวัสดุเหลือทิ้ง (ชีวมวล) ทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นวัสดุหมักร่วม ทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งของธาตุคาร์บอนและวัสดุบัลกิ้งเอเจนท์ (วัสดุเพิ่มปริมาตรและความพรุน) ให้แก่ระบบการหมัก และเมื่อการหมักสิ้นสุดลงวัสดุหมักร่วมบางส่วนจะถูกย่อยสลายไปในระหว่างกระบวนการหมัก วัสดุที่เหลือส่วนใหญ่จะกลายเป็นอินทรียวัตถุที่ค่อนข้างคงตัวและไม่สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัสดุบัลกิ้งเอเจนท์ใหม่ได้
จากวิกฤติปัญหาด้านพลังงานของโลกและประเทศไทย วัสดุเหลือทิ้ง (ชีวมวล) ดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน (พลังงานชีวมวล) มากขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนรวมถึงราคาในการจัดหาวัสดุหมักร่วมสำหรับเทคโนโลยีการหมักปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในต่างประเทศได้มีรายงานการวิจัยทดลองใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น กระดาษ พลาสติก เศษยางรถยนต์ ทำหน้าที่เป็น วัสดุบัลกิ้งเอเจนท์ทดแทนวัสดุมวลชีวภาพ แต่ประสิทธิผลของระบบการหมักยังค่อนข้างจำกัดและต้องการการพัฒนาอีกมาก ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ผศ. ดร.บัญจรัตน์ ในการศึกษาการประยุกต์ใช้วัสดุเม็ดชนิดใหม่เป็นบัลกิ้งเอเจนท์สำหรับการหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นพิษต่อจุลินทรีย์ ช่วยดูดซับความชื้นส่วนเกิน เพิ่มปริมาณความพรุนและการระบายอากาศให้แก่วัสดุหมัก ย่อยสลายได้ยากและทนต่อการเสียดสี ขณะเดียวกันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย นักวิจัยได้นำเศษดินขาวซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาห กรรมเซรามิกมาพัฒนาเป็นวัสดุเม็ดชนิดใหม่ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพและเคมีของเศษดินขาว มีแนวโน้มจะให้ผลิต ภัณฑ์ที่มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นวัสดุบัลกิ้งเอเจนท์ได้ตามวัตถุประสงค์ และยังเป็นการใช้วัสดุเหลือ ทิ้งจากอุตสาหกรรมเซรามิกให้เกิดประโยชน์อีกด้วย ผลการวิจัยพบว่าการประยุกต์ใช้วัสดุบัลกิ้งเอเจนท์จากเศษดินขาว ช่วยส่งเสริมสภาพการระบายอากาศและการดูดซับความชื้นส่วนเกิน และไม่เป็นพิษต่อจุลินทรีย์ตามวัตถุประสงค์ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิผลการย่อยสลายของระบบการหมักให้สูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบอิทธิของรูปแบบของวัสดุเม็ดที่พัฒนาขึ้นทั้งชนิดตันและชนิดกลวง พบว่าวัสดุเม็ดชนิดกลวงมีความเหมาะสมกว่าชนิดตัน และส่งผลต่อพฤติกรรมจลนศาสตร์ การหายใจของปุ๋ยหมัก และการย่อยสลายสารอินทรีย์ของระบบการหมักอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ด้วยเครื่องสแกน นิ่งอิเล็กตรอนไมโครสโครป หรือ SEM ยังบ่งชี้ว่าวัสดุเม็ดชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถประยุกต์ใช้เป็นตัวกลางในการต่อเชื้อจุลินทรีย์ให้แก่ระบบการหมักได้อีกแนวทางหนึ่ง วัสดุเม็ดที่พัฒนาขึ้นจากเศษดินขาวนี้ นับว่าเป็นการผลิตองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการหมักปุ๋ย อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดการพัฒนาถังหมักปุ๋ยเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต ผศ.ดร.บัญจรัตน์ระบุ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.บัญจรัตน์ โจลานันท์ โทร. 0-5389-2780 ต่อ 2441.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์