ชมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์...มีแห่งเดียวในประเทศ พระธาตุศรีสองรัก บ้านหัวนายูง หมู่ 14 ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของจังหวัดเลย ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีสองรัก บนเนินริมแม่น้ำหมัน เริ่มสร้างเมื่อจุลศักราช 922 ตรงกับ พ.ศ. 2103 แล้วเสร็จเมื่อจุลศักราช 925 หรือ พ.ศ. 2106 หรือ 450 ปี ล่วงมาแล้ว สาร สาระทัศนานันท์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวเลย เล่าว่า จากการศึกษาศิลาจารึกจำลองของพระแก้วอาสา (ท้าวกองแสง) ร่วมกับ นายเพีย ศรีวิเศษ คหบดีแห่งบ้านนาทุ่ม ที่สร้างขึ้นแทนของเดิมบันทึกตำนานการสร้างเจดีย์ศรีสองรักที่ฝรั่งเศสช่วงเข้ายึดเมืองด่านซ้าย ในระหว่าง พ.ศ. 2446 ถึง พ.ศ. 2449 ได้นำศิลาจารึกไปไว้ที่กรุงเวียงจันทน์ ทราบว่า เมืองด่านซ้าย เริ่มมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทำสงครามกับ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์พม่า ต่อเนื่องล่วงมาถึงสมัย พระเจ้าบุเรงนอง ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี แต่เนื่องจาก พระเจ้าบุเรงนอง มีกองทัพเข้มแข็งกว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา และ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) จึงได้ทำไมตรีต่อกัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่า โดยสร้างเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นที่เมืองด่านซ้าย ชื่อว่า เจดีย์ศรีสองรัก เพื่อเป็นสักขีพยานแห่งการทำสัตย์ปฏิญาณพระราชไมตรีต่อกัน บริเวณที่ตั้งเจดีย์นี้ตามตำนานกล่าวว่า เป็นจุดกึ่งกลางระหว่าง แม่น้ำโขง กับ แม่น้ำน่าน ใช้เป็นหลักปักปันเขตแดนของ 2 พระนครในสมัยนั้น
องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 10.47 เมตร สูง 19.19 หลังสร้างเสร็จ มีการทำพิธีสมโภชในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนตำนานพระธาตุศรีสองรัก จะไม่สมบรูณ์เลย ถ้า ไม่กล่าวถึง เจ้าพ่อกวน ซึ่งทาง อาจารย์ เอกรินทร์ พึ่งประชา แห่งภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนบทความในวรสารเมืองโบราณ ถึงตำนานพระธาตุศรีสองรัก และ เจ้าพ่อกวน ว่า ระหว่างการก่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก พระไชยเชษฐาธิราช ได้แต่งตั้งให้ ขุน แสน หมื่น และเจ้านาง รวมทั้งข้าราชบริวาร มาควบคุมดูแลการก่อสร้างเจดีย์ศรีสองรัก และปกครองเมืองนี้ให้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กระทั่งขุน แสน หมื่น เจ้านาง และข้ารับใช้ได้สิ้นชีวิตลง เจ้าขุนไกร และ เจ้านางน้อยโสดา ซึ่งเป็นเครือญาติกับขุนและหมื่น ได้ดูแลเมืองนี้สืบต่อมาเช่นเดิม แต่ปรากฏว่า เช้าวันหนึ่งระหว่างที่ ขุนไกร นำขุน แสน หมื่น เจ้านาง และบริวารทั้งหลายเตรียมสิ่งของกระทำพิธีกรรมเดือน 4 ประจำปี เช่นเคยปฏิบัติมา เมื่อเตรียมสิ่งของเป็นที่เรียบร้อย ขุนไกร พร้อมเสนาข้าทาสจึงประกอบพิธีคารวะวิญญาณบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ สักพักหนึ่ง ขุนไกร เริ่มมี ท่าทางผิดปกติจากคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง และภาษา พูด ทำให้ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีถึงกับตกใจ เสนาจึงรีบยกเครื่องสักการะถวาย ขุนไกร รับขันดอกไม้แล้วถามว่า รู้ไหมเราคือใคร มาจาก ไหน ทุกคนตอบว่า ไม่รู้คะน้อย ต่อจากนั้น ขุนไกร ที่เป็นเจ้าของร่างพูดว่า เราคือเจ้าเมืองวัง มาอาศัยร่างของขุนไกร เป็นร่าง ทรงเพื่อสื่อสารกับพวกเจ้า นับตั้งแต่นี้ไป เราจะ มาพบกับทุก ๆ คน ในเดือน 4 นอกจากนี้ยังแต่งตั้ง เจ้านางน้อย เป็นร่างทรงเจ้านาย รวมทั้งพ่อแสน นางแต่ง และบริวาร มาเป็นข้าทาสบริวาร คอยดูแลเมื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามวัน เดือน ปีที่กำหนด อีกทั้งยังอบรมสั่งสอนให้ทุกคนอยู่ในศีลในธรรม และประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของชาวบ้าน ขณะเดียวกันยังพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองว่า ปีนี้จะเป็นอย่างไร ควรกระทำอะไรก่อนหลัง เมื่อได้เวลา วิญญาณเจ้าเมืองวัง จึงออกจากร่างทรงของขุนไกร
นับจากนั้นมา จึงมีร่างทรงวิญญาณเจ้านายเป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างโลกของวิญญาณกับโลกมนุษย์ องค์พระธาตุศรีสองรักจึงเป็นทั้งปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่รวมวิญญาณผีบรรพบุรุษชั้นเจ้านายตามความเชื่อท้องถิ่นให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยมี เจ้าพ่อกวน เป็นผู้ดูแลศาสนสถานและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ นายอำเภอด่านซ้าย กล่าวว่า ขอเชิญนักท่องเที่ยว เดินทางมานมัสการพระธาตุศรีสองรัก มาดูพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2553 โดยในวันแรกมีการทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารที่บริเวณลานวัดด้านบันไดทางขึ้นองค์พระธาตุ ช่วงสาย ชาวบ้านจะเตรียมบายศรีและเครื่องสักการะต่าง ๆ วันที่สอง เป็นวันสำคัญมีพิธีล้างองค์พระธาตุศรีสองรัก ที่หาดูได้ยากซึ่งปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 400 ปี วันที่สามไม่มีการประกอบพิธีใด ๆ ยกเว้นเตรียมสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีอุปสมบทเพื่อร่วมฉลององค์พระธาตุในวันถัดไป ส่วนวันสุดท้าย มีพิธีที่สำคัญอยู่สองอย่าง คือ พิธีทำบุญตักบาตร บายศรีสู่ขวัญนาค และพิธีบูชาองค์พระธาตุ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านมาเยือน ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรีที่อำเภอด่านซ้าย.
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์