ภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ และต่างมีความพยายามในการลดใช้พลังงาน ตลอดจนเสาะแสวงหาพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อนำมาใช้ทดแทนพลังงานจากธรรมชาติที่นับวันก็จะลดน้อยลงและอาจจะหมดไปได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นอกจาก นี้ของเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นหากปราศจากการจัดการที่ดี และปล่อยให้ของเสียเหล่านี้ย่อยสลายในพื้นที่เปิด จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอย่างก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แน่นอนว่าเราไม่อาจมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่า แต่สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้น น้ำเสีย กลิ่นเหม็นและแมลง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมชุมชน ที่ไม่อาจมองข้ามได้ วันก่อนไปดูงานด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ มีนบุรีที่มีโครงการ ผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำ เพื่อให้เป็นโรงงานเป็นมิตรกับชุมชนอย่างแท้จริง โครงการนี้ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศชนิดปิดคลุมเพื่อลดการกระจายของกลิ่นและสามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายน้ำเสียได้สูงสุดถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีแผนจะนำก๊าซชีวภาพดังกล่าวไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำในโรงงานภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึงปีละ 6.6 ล้านบาท ศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน โรงงานมีนบุรีแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนมาก เรียกว่า กว่าจะเข้าเมืองในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลามาก ช่วงเวลาเพียง ไม่กี่ปีมานี้แม้ว่าโรงงานแห่งนี้ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ความเจริญที่เริ่มขยายรุกคืบเข้ามาใกล้โรงงาน สิ่งที่ตามมาก็คือ วันนี้ชุมชนกำลังโอบล้อม ทำให้ต้องกลับมาคิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนรอบ ๆ ข้างได้ อย่างมีความสุข ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักเป็นสิ่งแรก เนื่องจากโรงงานนี้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปเนื้อไก่ จึงมี ของเสียจากกระบวนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากไม่มีการจัด การของเสียเหล่านี้ให้ดีก็อาจจะส่งผลกระทบต่อชุม ชนได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงได้พัฒนาระบบบำบัดมาอย่างต่อ เนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิ ภาพมากที่สุด เป็นที่มาของ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ จากระบบบำบัดน้ำ ที่ไม่เพียงสามารถลดปัญหามลพิษทางกลิ่นรบกวนจากบ่อบำบัดได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยบรรเทาวิกฤติโลกร้อนได้เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่โรงงาน ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญโครงการนี้นับเป็น ครั้งแรกที่มีขึ้นในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย โครงการนี้เป็นต้นแบบที่จะนำไป ประยุกต์ใช้กับโรงงานอาหารแปรรูปอื่น ๆ ของบริษัทต่อไป โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นนี้ มีส่วนผสมของก๊าซมีเทนประมาณ 60-70% นับเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้แทนเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ หรือใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลัก CDM : Clean Development Mechanism ที่ช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลก แม้ว่าแนวทางบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความตื่นตัวในองค์กรทุกระดับจากทั่วโลก ก่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ความสำคัญของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลจริงต่อส่วนรวมนั้น จะต้องอยู่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติ ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งต่อความคิดอันดีต่อ ส่วนรวม โดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรก่อนแล้วจึงแผ่ขยายสู่สังคมโดยรวม เช่นนี้...จึงจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บังเกิดผลลัพธ์ได้จริงอย่างยั่งยืน.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์