จากการสำรวจ และติดตามสภาพแนวปะการังของประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี 2525 ทำให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทราบถึงสถานภาพการเปลี่ยนแปลงของแนวปะการัง แม้ว่าในภาพรวมของแนวปะการังของไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปมากนักจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาในรายละเอียดเชิงพื้นที่แล้วจะพบว่าแนวปะการังหลายบริเวณมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสื่อมโทรม โดยปัจจุบันพื้นที่แนวปะการังของประเทศไทย ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ในสภาพเสียหายถึงเสียหายมาก สาเหตุแห่งความเสียหายมีหลายประการนับตั้งแต่อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงผิดปกติเป็นเหตุให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ถูกพายุพัดทำลาย ปลาดาวหนามระบาดกัดกินปะการัง รวมทั้งการพัฒนาชายฝั่งของมนุษย์ที่จัดได้ว่าเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปะการังเสียหาย เช่น ปล่อยน้ำเสียลงทะเล ขุดแร่ในทะเล ทิ้งขยะลงทะเล ระเบิดปลาในแนวปะการัง ใช้ยาเบื่อปลาในแนวปะการัง การลักลอบเก็บหรือรื้อปะการังเพื่อการค้าและบริการ รวมไปถึงการเหยียบบนปะการังของนักดำน้ำ นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทช. กล่าวถึงความสำคัญของปะการังว่า แนว ปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญที่สุด ด้วยความสลับซับซ้อนของโครงสร้างหินปูนที่เกิดจากการสร้างของตัวปะการัง ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งที่อยู่หากิน เลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์ทะเลนานาชนิด แนวปะการังจึงเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล เป็นที่มาของอาหาร สารเคมีที่มีคุณค่าทางการแพทย์ รวมทั้งเป็นแหล่งรายได้จากการทำประมง การท่องเที่ยว แม้กระทั่งเป็นบริเวณที่ป้องกันความรุนแรงของกระแสคลื่นลมให้แก่พื้นที่ชายฝั่ง รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของเม็ดทรายที่เกิดจากการสึกกร่อนของโครงสร้างหินปูน ซึ่งในประเทศไทยมีแนวปะการังพื้นที่รวมประมาณ 154 ตารางกิโลเมตร อยู่ในฝั่งอ่าวไทย 75 ตารางกิโลเมตรและฝั่งอันดามัน 78 ตาราง กิโลเมตรจากการเปรียบ เทียบข้อมูลในระยะยาวพบว่าแนวปะการังในทะเลอันดามันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ ดีขึ้นโดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวี จ.สตูล มีสภาพปะการังที่ดีมาก ในขณะที่แนวปะการังทางฝั่งอ่าวไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้าม ทช.ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูปะการังซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันและมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ เพื่อหาเทคนิควิธีการฟื้นฟูปะการัง ใหม่ ๆ ที่รบกวนแหล่งพันธุ์ธรรมชาติน้อยที่สุด รวมทั้งลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูปะการังโดยวิธีที่เหมาะสมภายใต้หลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และถ่ายทอดผลจากงานวิจัยดังกล่าวไปยังหน่วยงานในภาคปฏิบัติ ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการประมงของ ทช. กล่าวว่า วิธีการฟื้นฟูปะกา รังที่ดำเนินการในประเทศไทยมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการนำปะการังที่เสียหายจากธรรม ชาติมาฟื้นฟู การปลูกปะการังในทะเลโดยใช้วัสดุประเภทโครงเหล็กเส้น ไม้ไผ่หรือท่อพีวีซี การจัดวางพื้นที่ในทะเลเพื่อให้ตัวอ่อนปะการังในธรรมชาติมาเกาะ การทำแปลง อนุบาลในปะการังหรือเทคนิคไบโอร็อค ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าการฟื้นฟูปะการังโดยการกระทำของมนุษย์เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากหากปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองก็เป็นที่มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบที่เสียหายใด ๆ แต่ถึงกระนั้นแนวปะการังก็เสียหายจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างมากจนไม่อาจฟื้นตัวเองได้ทัน อาจทำให้พื้นที่บริเวณนั้นไม่มีแนวปะการังอีกต่อไป จึงคิดว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยฟื้นฟู ...ขณะนี้มีหลายส่วนเข้ามาให้การสนับสนุนการทำงานของ ทช. ไม่ว่าจะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะครูนักเรียน ประชาชน และผู้นำชุมชนในพื้นที่เกาะพีพี อาสาสมัครกู้ภัยทางทะเลเกาะพีพี นักดำน้ำอาสาสมัคร ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและร้านดำน้ำบนเกาะพีพี... ...ด้วยการทำงานแบบร่วมมือกันทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จมีมากขึ้น ทั้งประหยัดงบประมาณของราชการและลดภาระของนักวิจัยในการติดตามข้อมูลในพื้นที่ และที่สำคัญเป็นการปลุกจิตสำนึกร่วมกันในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่แต่เฉพาะปะการังเท่านั้น.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์