ไขปริศนาสัตว์ยักษ์กับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซากดึกดำบรรพ์ หรือ บรรพชีวิน หรือ ฟอสซิล มีความหมายเดิมว่า เป็นของแปลกที่ขุดขึ้นมาได้จากพื้นดิน แต่ในปัจจุบันถูกนำมาใช้ในความหมายของซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกแปรสภาพด้วยกระบวนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ และถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน โดยอาจประกอบไปด้วยซากเหลือของสัตว์ พืช หรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิต อื่นใด ที่ได้รับการจัดแบ่งจำแนกไว้ทางชีววิทยา และรวมถึงร่องรอยต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ซากดึกดำบรรพ์ จึงมีหลายชนิดอาจมีความคงทนยากต่อการทำลาย เช่น กระดูก ฟัน หรือเปลือก เพราะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของซากสิ่งมีชีวิตมาเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้ในหลายลักษณะที่บางโครงสร้างอาจมีแร่เข้าไปตกผลึกจนแข็งตัว ที่เรียกขบวนการนี้ว่า การกลายเป็นหิน กับขบวนการรอยพิมพ์ที่เรียกว่ารูปหล่อ ดังจะปรากฏเป็น ร่องรอยของสิ่งมีชีวิต เช่น รอยคืบคลาน หรือรอยเท้า ซึ่งนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์(นักบรรพชีวินวิทยา) จึงได้จำแนกซากดึก ดำบรรพ์ไว้ถึง 3 ประเภท คือ 1.ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ 2.ซากดึกดำบรรพ์พืช และ3.ซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย การค้นหาฟอสซิลของไดโนเสาร์ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยโครงการศึกษาวิจัยฟอสซิลของ สัตว์ ที่มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี ก่อนหน้านี้มีรายงานการวิจัยฟอสซิลของสัตว์มีกระดูกสันหลังน้อยมาก ในปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ จากภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แต่ผลการวิจัยขณะนั้นทราบเพียงว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด จำพวกกินพืช เดิน 4 เท้า คอยาว หางยาว มีความยาวประมาณ 15 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 และ 2525 ได้มีการสำรวจที่บริเวณภูเวียง และที่ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ทำให้พบกระดูกส่วนต่าง ๆ ของไดโนเสาร์และสัตว์อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการค้นหาฟอสซิลไดโนเสาร์ และมีการ พัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพิพิธภัณฑ์สิรินธร อย่างจริงจังเป็นต้นมา สำหรับ ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นแหล่งใหม่ที่มีการขุดค้นพบซากฟอสซิล ไดโนเสาร์จำนวนมาก และมีความพิเศษโดดเด่นจากแหล่งขุดค้นอื่น ๆ เพราะผลพิสูจน์ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ทั้งด้วยความดึกดำบรรพ์ และมีขนาดที่ใหญ่โตจึงเป็นไปได้ว่าการขุดค้นใหม่ครั้งนี้จะเป็นซากฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ซอโรพอด สกุลใหม่ของโลก นอกจากนี้แหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย บ้านดินจี่ ต.ดินจี่ อ.คำม่วง ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาภูพาน มีลักษณะเป็นเทือกเขาต่อกันเป็นแนว การวางตัวของแนวเขาอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ยอดเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 295 เมตร มีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นภูเขาหินตะกอนที่เกิดการตกตะกอนบนบก อยู่ในกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วย 2 หมวดหิน คือ ด้านบนของภูน้อย อยู่ในยุคครีเทเชียส ตอนต้น อายุประมาณ 140 ล้านปี กับอยู่ในยุคจูราสสิค ตอนปลาย อายุประมาณ 150 ล้านปี ซึ่งเป็นหมวดหินที่พบซากดึกดำบรรพ์ นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การค้นพบซากฟอสซิลของที่นี่เกิดขึ้นในช่วง เดือนกันยายน พ.ศ. 2551 โดย นายเลิศบุศย์ กองทอง นายอำเภอคำม่วง ได้ส่งชิ้นส่วนวัตถุลักษณะคล้ายฟอสซิล ซึ่งราษฎรเก็บได้จากบริเวณแนวเทือกเขาภูพาน ช่วงบ้านโนนค้อ ต.นาทัน และบ้านดินจี่ ต.ดินจี่ มาให้พิพิธภัณฑ์สิรินธร ภูกุ้มข้าว กรมทรัพยากรธรณีทำการตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นฟอสซิล ปลาเลปิโดเทส พุทธบุตรเอนซิส ส่วนกระดูกเป็นชิ้นส่วนของกระดูกส่วนซี่โครงของไดโนเสาร์ และฟันช้าง จึงได้มอบหมายให้ นางสาวธิดา แสนยะมูล นักธรณีวิทยา นำทีมเข้าไปสำรวจ จนพบซากดึกดำบรรพ์ และมีการเข้าสำรวจทั้งจากทีมสำรวจศูนย์ศึกษาและวิจัยบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยามหาสาร คาม นำโดย ดร. คมศร เลาห์ประ เสริฐ กับทีมนักศึกษาฝึกงานจากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียง ใหม่ จนเกิดความมั่นใจว่าพื้นที่แห่งนี้มีซากดึกดำบรรพ์จำนวนมาก ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 ทีมนักธรณีวิทยานำโดย ดร.วราวุธ สุธีธร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส ดร.อีริค บุพโต และ ดร.ไฮยั่น ตุง และศูนย์ศึกษาและวิจัยบรรพชีวินวิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันขุดค้นอย่างจริงจัง ในปัจจุบันการค้นพบฟอสซิลที่ภูน้อย มีจำนวน 75 ชิ้นหรือกว่า 200 ชิ้นเล็ก ถือเป็นการค้นพบไดโนเสาร์ซอโรพอด คอยาว หางยาว เดิน 4 ขา กินพืชเป็นอาหาร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคำนวณจากลักษณะของกระดูกตะโพก กระดูกสะบัก กระดูกซี่โครง และกระดูกขาหน้า ขาหลัง เจ้าของโครงกระดูกนี้ควรจะมีขนาดประมาณ 20-25 เมตร นอกจากนี้โครงกระดูกของไดโนเสาร์ที่แหล่งภูน้อยยังมีความสมบูรณ์ เพราะมีการวางตัวของชิ้นตัวอย่างฟอสซิลไดโนเสาร์อย่างต่อเนื่อง คือ มีกระดูกส่วนขาซ้าย ประกอบด้วย กระดูกสะบัก กระดูกขาหน้าท่อนบน กระดูกหน้าแข้ง กระดูกน่อง กระดูกนิ้วเท้า 4 นิ้ว และจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ทั่วโลกมีการค้นพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์แบบเหมือนแหล่งไดโนเสาร์ภูน้อย จำนวนน้อยมาก ซึ่งหากได้รับการขุดค้นอย่างเป็นระบบ คาดว่าหลักฐานฟอสซิลจากภูน้อย จะมีบทบาทสำคัญมากในการศึกษาวิวัฒนาการของสัตว์ยักษ์ในยุคจูราสสิค ประมาณ 150-180 ล้านปี และจะเป็นกุญแจไขปริศนาการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก สภาพแวดล้อม ที่จะช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะต้องเผชิญในเวลาปัจจุบันนี้ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาพื้นที่ต่อไป จังหวัดพร้อมที่จะสนับสนุนทั้งในเรื่องแผนงานและงบประมาณ ที่จะร่วมกันผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดในปี พ.ศ. 2555 แต่ในเบื้องต้นจะร่วมทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดูแล และเชื่อว่าแหล่งขุดค้นที่ภูน้อยแห่งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของโลกต่อไป.
ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์